Friday, 11 December 2015

อพยพ บทเรียน 24: "การสำแดงเกี่ยวกับพลับพลา" (อพยพ 24:1-25:9)



ตกผลึกความจริงจากพระธรรมอพยพ
บทเรียน 24:
"การสำแดงเกี่ยวกับพลับพลา"
(อพยพ 24:1-25:9)

ศึกษาเกี่ยวกับพลับพลาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระธรรมอพยพและเป็นการแสดงออกของความปรารถนาในหัวใจของพระเจ้า โดยการเห็นความสำคัญของการสำแดงเกี่ยวกับพลับพลาเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงระดับความสนิทสนมของผู้เชื่อกับพระเจ้า และส่วนประกอบของพลับพลามีความสำคัญฝ่ายวิญญาณเกี่ยวข้องกับคริสตจักร

พลับพลาในพระธรรมอพยพ

เมื่อพูดถึงพระธรรมอพยพ คนคงจะคิดถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการที่พระเจ้านำอิสราเอลออกจากอียิปต์ เรื่องราวนี้สอดคล้องกับชื่อของพระธรรมเล่มนี้อย่างลงตัว เพราะมันก็คือเรื่องราวของการอพยพของอิสราเอลจากอียิปต์มาถึงภูเขาซีนายในถิ่นทุรกันดาร และคริสเตียนส่วนใหญ่ก็รู้เรื่องราวเหล่านี้ดี โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาในครอบครัวคริสเตียน เพราะเขาคงจะได้ยินเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก

แต่ถ้าหากอ่านพระธรรมเล่มนี้ทั้งเล่ม ก็จะเห็นได้ว่า เรื่องราวของการอพยพของอิสราเอลนั้น มีการบันทึกเพียง 19 บทเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงครึ่งของพระธรรมเล่มนี้ (ซึ่งมีทั้งหมด 40 เล่ม) ดังนั้นจะว่าไปแล้ว ชื่อ "อพยพ" คงจะไม่ใช่ชื่อที่ครอบคลุมเนื้อหาของพระธรรมเล่มนี้ได้ดีนัก

ชื่อ "อพยพ" หรือ "Exodus" ไม่ได้ปรากฏในต้นฉบับพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู แต่เป็นชื่อที่ใส่เข้ามาในภายหลังเมื่อมีการแปลพระคำจากภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก ถ้าหากโมเสสตั้งชื่อหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นมาเอง ผมคิดว่าท่านคงจะตั้งชื่อยาวกว่านี้ เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผมก็คงจะไม่ไปประท้วงให้เปลี่ยนหรือเพิ่มเติมชื่อพระคัมภีร์ของพระคัมภีร์เล่มนี้หรอกนะครับ แต่อยากให้พี่น้องได้มองพระธรรมอพยพทั้งเล่ม ไม่จำกัดเพียงแค่เรื่องราวที่อ่านสนุกในครึ่งแรกเท่านั้น เพื่อที่พี่น้องจะไม่หลงประเด็นเพราะชื่อของพระธรรมเล่มนี้ และไม่พลาดโอกาสที่จะได้เห็นถึงความปรารถนาในใจของพระเจ้าที่พระองค์ได้สำแดงในพระธรรมอพยพครึ่งหลังผ่านทางการบันทึกของโมเสสครับ

คริสเตียนที่รู้จักพระคัมภีร์ดี ก็คงจะรู้ว่าอพยพมีธรรมบัญญัติที่สำคัญ นั่นคือ พระบัญญัติสิบประการ ซึ่งอยู่ใน อพยพ 20 และหลังจากนั้น โมเสสได้เขียนกฎข้อบังคับต่างๆ ไว้ จนกระทั่งมีพิธีประกาศใช้ธรรมบัญญัติด้วยพิธีรับพันธสัญญาใน อพยพ 24

ที่น่าสนใจคือ โมเสสใช้พื้นที่ถึง 15 บท (บทที่ 25-40) หลังจากรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีรับพันธสัญญา ในการพูดถึงสิ่งสำคัญซึ่งคนมักจะมองข้ามเพราะคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับคริสเตียนในสมัยพันธสัญญาใหม่ นั่นคือ "พลับพลา" ดังนั้น เรื่องของ "พลับพลา" ไม่น่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยได้เลย

"พลับพลา" คือ ที่อยู่อาศัยบนโลกนี้ของพระเจ้า ถ้าเป็นชื่อไทยๆ ก็อาจจะแปลว่า "ศาลพระยาห์เวห์" (แนวคิดของ อ. บรรพต เวชกามา) ซึ่งอาจฟังดูไม่ค่อยรื่นหูสำหรับคนไทยทั่วไป แต่ผมคิดว่าเป็นคำแปลที่เห็นภาพได้ชัดเจนดีครับ

เราทุกคนรู้ดีว่าไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถบรรจุพระเจ้าได้เลย เพราะพระองค์ยิ่งใหญ่มหาศาล แต่นี่เป็นวิธีที่พระองค์กำหนดขึ้นมา พระองค์ต้องการที่อยู่อาศัยบนโลกนี้เพื่อที่จะสำแดงพระองค์เองให้มนุษย์ได้เห็น

พลับพลาในพระคัมภีร์ ความหมาย 3 ประการ ได้แก่

1. สิ่งก่อสร้างที่อิสราเอลสร้างขึ้นในถิ่นทุรกันดาร

อิสราเอลสร้างพลับพลาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้า มีรูปแบบเป็นเต็นท์ เคลื่อนย้ายได้

เมื่ออิสราเอลได้เข้าในคานาอันแล้ว ได้มีการสร้างพลับพลาในรูปแบบสิ่งก่อสร้างถาวรขึ้นมา นั่นคือพระวิหาร ซึ่งซาโลมอนได้สร้างขึ้นที่เยรูซาเล็ม (เขาโมริยาห์)

ทั้งพลับพลาและพระวิหาร มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างก็คือ พลับพลาเป็นเต็นท์ที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปกับประชากรของพระเจ้า ในขณะที่พระวิหารเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรที่ ซึ่งคนจะต้องเดินทางมาเพื่อนมัสการพระเจ้า

2. พระคริสต์

พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา เราเห็นพระสิริของพระองค์ คือ พระสิริที่สมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง
(ยอห์น 1:14)

คำว่า "ทรงอยู่" มีรากศัพท์เป็นคำเดียวกับคำว่า "พลับพลา" (tabernacle) ดังนั้น พระคำข้อนี้จึงแสดงให้เราเห็นว่า พระคริสต์ คือ "พลับพลา" หรือ "ที่อยู่อาศัย" ของพระเจ้าท่ามกลางเรา และพระคริสต์ก็คือใจความสำคัญของ "พลับพลา" ที่ปรากฏในพันธสัญญาเดิม

และต่อมา พระคำของพระเจ้าได้บอกชัดเจนว่า "คริสตจักร" ซึ่งเป็นพระกายของพระคริสต์ ก็เป็นพระวิหารของพระเจ้าเช่นกัน ดังนั้น ทั้งพระคริสต์และคริสตจักร ล้วนเป็น "พลับพลา" ของพระเจ้า นั่นคือเป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้าบนโลกนี้ เพื่อสำแดงพระสง่าราศีของพระองค์ให้โลกได้เห็น

3. เยรูซาเล็มใหม่

ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังจากพระที่นั่งว่า "นี่แน่ะ ที่ประทับของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์แล้ว และพระองค์จะประทับกับเขาทั้งหลาย พวกเขาจะเป็นชนชาติของพระองค์ พระเจ้าเองจะสถิตกับเขา และจะทรงเป็นพระเจ้าของเขา
(วิวรณ์ 21:3)

รากศัพท์ของคำว่า "ที่ประทับ" ในข้อนี้ ก็เป็นคำเดียวกับคำว่า "พลับพลา"

ดังนั้น ภาพที่สมบูรณ์ของพลับพลา จะปรากฏที่นครเยรูซาเล็มใหม่ เพราะที่นั่นจะเป็นที่ซึ่งพระเจ้าจะอาศัยอยู่กับผู้เชื่อตลอดกาล


กล่าวโดยสรุปก็คือ พลับพลาแท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงแค่เงา ใจความสำคัญที่แท้จริงของพลับพลา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่อิสราเอลสร้างขึ้นในถิ่นทุรกันดาร แต่เป็นสิ่งซึ่งพระเจ้าได้สำแดงในพระคัมภีร์ใหม่ นั่นคือ พระคริสต์ ผู้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้าท่ามกลางเราทั้งหลาย และนครเยรูซาเล็มใหม่ ที่ซึ่งพระเจ้าและลูกของพระองค์จะได้อยู่ร่วมกันตลอดกาล

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเกี่ยวรายละเอียดของพลับพลา ก็จะช่วยให้เราได้เห็นถึงความล้ำลึกฝ่ายวิญญาณเกี่ยวกับพระคริสต์ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเราเช่นกัน


คนสามกลุ่มที่ภูเขาโฮเรบ

1 พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า "เจ้ากับอาโรน นาดับกับอาบีฮู และพวกผู้ใหญ่ของอิสราเอล 70 คน จงขึ้นมาเข้าเฝ้าพระยาห์เวห์ แล้วนมัสการอยู่แต่ไกล
2 ให้เฉพาะโมเสสผู้เดียวเข้ามาใกล้พระยาห์เวห์ ส่วนคนอื่นๆ อย่าให้เข้ามาใกล้และอย่าให้ประชาชนขึ้นมากับโมเสสเลย" (อพยพ 24:1-2)

ในอพยพบทที่ 24 หลังจากมีพิธีรับบัพติศมาแล้ว โมเสส อาโรน นาดับ อาบีฮู และพวกผู้ใหญ่ของอิสราเอล 70 คนเดินทางขึ้นไปบนภูเขาโฮเรบ พวกเขาได้เห็นพระเจ้า และได้นมัสการพระเจ้าที่นั่น และหลังจากนั้น พระเจ้าเรียกโมเสสให้ขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อที่จะรับการสำแดงจากพระเจ้าถึงสี่สิบวันสี่สิบคืน

จากเหตุการณ์ตอนนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่า คนอิสราเอลได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลำดับความใกล้ชิดกับพระเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของผู้เชื่อเช่นกัน ได้แก่

1. โมเสส

15 แล้วโมเสสขึ้นไปบนภูเขา เมฆก็ปกคลุมภูเขาไว้
16 พระรัศมีของพระยาห์เวห์มาอยู่บนภูเขาซีนาย เมฆนั้นปกคลุมภูเขาอยู่หกวัน พอถึงวันที่เจ็ด พระองค์ทรงเรียกโมเสสจากหมู่เมฆ
17 พระรัศมีของพระยาห์เวห์ปรากฏแก่ตาของชนชาติอิสราเอลเหมือนเปลวไฟที่ไหม้อยู่บนยอดภูเขา
18 โมเสสเข้าไปในหมู่เมฆนั้นและขึ้นไปบนภูเขา โมเสสอยู่บนภูเขานั้นสี่สิบวันสี่สิบคืน
(อพยพ 24:15-18)

โมเสส (และอาจรวมถึงโยชูวาด้วย) เป็นคนที่ได้ขึ้นไปถึงยอดเขา นอกจากที่เขาได้นมัสการพระเจ้า ด้วยการมองดูพระเจ้า กิน และดื่มบนภูเขาแล้ว เขายังได้มีประสบการณ์พิเศษกว่าคนอื่น นั่นคือ เขาได้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้าและได้รับการสำแดงจากพระองค์ถึงสี่สิบวันสี่สิบคืน โดยหัวใจสำคัญของการสำแดงตลอดสี่สิบวันสี่สิบคืนนั้นก็คือ "พลับพลา"

นี่คือกลุ่มของผู้เชื่อที่เพลิดเพลินกับความสัมพันธ์กับพระเจ้า เขาจะใช้เวลาพูดคุยกับพระเจ้าอย่างสนิทสนมตลอดเวลา ผลที่ตามมาคือ ชีวิตของเขาจะเต็มล้นไปด้วยชีวิตของพระเจ้า และชีวิตของเขาจะเปล่งประกายด้วยแสงสว่างของพระองค์ในชีวิตของเขา เหมือนกับที่ใบหน้าของโมเสสที่ทอแสงออกมาสว่างจ้าจนต้องหาผ้าคลุ้มหน้าเอาไว้ (อพยพ 35:29-35)

นอกจากนี้ ลักษณะของผู้เชื่อกลุ่มนี้ คือ เขาเห็นความปรารถนาในใจของพระเจ้าที่จะมีที่อยู่อาศัยบนโลกนี้ นั่นคือคริสตจักร ด้วยเหตุนี้ คนกลุ่มนี้จึงจะไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เขาจะทุ่มแรงกายแรงใจใช้ของประทานที่พระเจ้าให้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อเสริมสร้างพระกายให้เติบโตในพระคริสต์ เขาเห็นความสำคัญของการเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งกับพระคริสต์และกับผู้เชื่อคนอื่นๆ เป็นอย่างยิ่ง

2. อาโรน นาดับ อาบีฮู และผู้ใหญ่ 70 คน

คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าคนกลุ่มแรก พวกเขาได้ขึ้นไปบนภูเขาด้วยกับโมเสส พวกเขาได้มีโอกาสนมัสการพระเจ้า แต่นมัสการอยู่ห่างๆ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้ใกล้ชิดพระเจ้ามากนัก และไม่ได้เห็นการสำแดงเกี่ยวกับเรื่องพลับพลา

นี่คือกลุ่มผู้เชื่อที่รู้จักพระเจ้า เขาได้เห็นพระเจ้า ได้มีประสบการณ์กับพระเจ้า และได้นมัสการพระองค์ แต่ชีวิตส่วนตัวของเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างลึกซึ้งนัก และที่สำคัญคือ เขาไม่รู้ถึงความปรารถนาในใจของพระเจ้าเกี่ยวกับคริสตจักร แม้เขาจะได้อ่านพระคัมภีร์มาหลายรอบ แต่เขากลับมองไม่เห็นความสำคัญของการสำแดงนี้ เขาอาจมองดูว่าชีวิตคริสเตียนเป็นเพียงแค่เรื่องระหว่างพระเจ้ากับเขาเท่านั้น เขาจึงคิดว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเสริมสร้างและเลี้ยงดูพี่น้อง เขาใช้ของประทานที่พระเจ้าให้แก่เขาเพียงเพื่อตัวเองเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าให้ของประทานมา นั่นคือเพื่อเสริมสร้างคริสตจักร

3. คนอิสราเอลส่วนใหญ่

คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด นั่นคือเป็นคนอิสราเอลเกือบทั้งหมด พวกเขาอยู่ได้แค่ที่เชิงเขา ไม่ได้ขึ้นไปนมัสการพระเจ้าด้วย และที่น่าสนใจ คือ พวกเขาไม่ได้ชื่นชมยินดีที่จะได้พบกับพระเจ้าเลย ตรงกันข้าม พวกเขากลับ "กลัวจนตัวสั่น" เมื่อพระเจ้าจะพูดกับเขา

18 ประชาชนทุกคนได้ยินเสียงฟ้าร้อง และเสียงแตร อีกทั้งได้เห็นฟ้าแลบและควันที่พลุ่งขึ้นจากภูเขานั้น ประชาชนก็กลัวจนตัวสั่นยืนอยู่แต่ไกล 19 พวกเขาจึงกล่าวกับโมเสสว่า "ท่านจงนำความมาเล่าเถิด เราจะฟัง แต่อย่าให้พระเจ้าตรัสกับเราเลย เกรงว่าเราจะตาย"
(อพยพ 20:18-19)

คนกลุ่มนี้หมายถึงผู้เชื่อส่วนใหญ่ในคริสตจักร พวกเขารู้จักพระเจ้า เป็นคนของพระเจ้า แต่เขาไม่ค่อยอยากจะพูดคุยกับพระเจ้านัก เขาไม่อยากมีประสบการณ์กับพระเจ้าโดยตรง แต่ชอบที่จะฟังเรื่องราวของพระเจ้าผ่านทางคนอื่นมากกว่า เขามองพระเจ้าว่าเป็นพระเจ้าผู้อยู่ห่างไกล และมองเรื่องของความเชื่อในมุมมองของศาสนา นั่นคือ เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ต่างๆ คนกลุ่มนี้จึงจะไม่ได้มีโอกาสเพลิดเพลินกับความสัมพันธ์กับพระเจ้าเลย


ที่น่าสนใจ คือการแบ่งคนเป็น 3 กลุ่มนี้ สอดคล้องกับการแบ่งบริเวณของพลับพลาอย่างลงตัว นั่นคือ ห้องชั้นนอก วิสุทธิสถาน และอภิสุทธิสถาน ซึ่งแบ่งตามความใกล้ชิดของความสัมพันธ์กับพระเจ้าเช่นกัน

1 แม้แต่พันธสัญญาเดิมนั้นก็ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับศาสนพิธีและสำหรับสถานนมัสการในโลก
2 เพราะว่าพลับพลาจัดเตรียมเสร็จแล้วในห้องชั้นนอกนั้น มีคันประทีป โต๊ะ และขนมปังเฉพาะพระพักตร์ ห้องนี้เรียกว่า วิสุทธิสถาน
3 และข้างหลังม่านชั้นที่สองมีห้องซึ่งเรียกว่า อภิสุทธิสถาน
(ฮีบรู 9:1-3)

แน่นอนว่า เราคงจะเห็นได้ว่าใครอยู่ส่วนไหนของภูเขาโฮเรบจากผลของชีวิตของเขา แต่ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่การที่เราจะไปจัดหมวดหมู่คน เพราะนั่นจะทำให้เกิดการแบ่งแยก และการดูถูกกัน หากแต่เป็นการที่เราจะพิจารณาตัวเราเอง ว่าเรามีความสัมพันธ์กับพระเจ้าใกล้ชิดขนาดไหนแล้ว

ในขณะนี้ พี่น้องอยู่ในบริเวณไหนของเขาโฮเรบครับ? อยู่ที่เชิงเขา บนภูเขา หรือที่ยอดเขา? ถ้ายังอยู่ที่เชิงเขาหรือบนเขา ขอให้เราเดินทางร่วมกับพี่น้องในคริสตจักร มุ่งสู่ยอดเขา และเข้าเฝ้าพระเจ้าอย่างใกล้ชิดเหมือนโมเสสกันเถิดครับ เพราะบนยอดเขาเท่านั้น ที่เราจะได้ใกล้ชิดกับพระเจ้า และได้เห็นถึงความปรารถนาในหัวใจของพระเจ้าอย่างชัดเจน แล้วชีวิตของเราจะได้รับการเติมด้วยชีวิตของพระองค์ และจะไม่มีวันหลงทางไปจากพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของพวกเราทุกคนเลยครับ


ของถวายสำหรับพลับพลา

1 พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า
2 "จงบอกชนชาติอิสราเอลให้นำของมาถวายเรา ของนั้นให้รับมาจากทุกๆ คนที่เต็มใจถวาย
3 เครื่องถวายซึ่งเจ้าจะรับจากพวกเขาคือ ทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์
4 ด้ายสีฟ้า สีม่วง สีแดงเข้ม ผ้าป่านเนื้อดีและขนแพะ
5 หนังแกะตัวผู้ย้อมสีแดง หนังอย่างดีและไม้กระถินเทศ
6 น้ำมันตะเกียง เครื่องเทศสำหรับปรุงน้ำมันเจิม และสำหรับปรุงเครื่องหอม
7 โอนิกซ์ และพลอยอื่นๆ สำหรับฝังในเอโฟดและทับทรวง
8 แล้วให้พวกเขาสร้างสถานนมัสการสำหรับเรา เพื่อเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขา
9 พวกเจ้าจงสร้างพลับพลาและเครื่องใช้ไม้สอยทุกชิ้นของพลับพลานั้นตามแบบที่เราแจ้งแก่เจ้าทุกประการ"
(อพยพ 25:1-9)

พระธรรมตอนนี้กล่าวชัดเจนว่า ความปรารถนาในใจของพระเจ้าคือการที่พระองค์มีที่อยู่อาศัยบนโลกนี้ พระองค์ให้ประชากรของพระองค์สร้างพลับพลาขึ้นมาสำหรับพระองค์ เพื่อพระองค์จะอยู่ท่ามกลางพวกเขา (อพยพ 25:8) จึงไม่น่าแปลกใจที่พระเจ้าได้สำแดงเกี่ยวกับพลับพลาให้โมเสสได้เห็นอย่างละเอียด เพราะว่าทุกรายละเอียดล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพลับพลาฝ่ายวิญญาณทั้งสิ้น นั่นคือพระคริสต์และคริสตจักร

Witness Lee ได้เขียนหนังสืออรรถาธิบายพระธรรมอพยพ (Life-Study of Exodus) ไว้ถึง 185 บท ที่น่าตกใจคือ ท่านใช้ทั้งหมดถึง 101 บทในการอธิบายเกี่ยวกับพลับพลา ยาวกว่าเรื่องการอพยพของอิสราเอลและธรรมบัญญัติส่วนอื่นในพระธรรมเล่มนี้รวมกันเสียอีก นี่คงเป็นเพราะท่านอยากให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความปรารถนาในใจของพระเจ้าอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับพระคริสต์และคริสตจักร โดยศึกษาจากทุกรายละเอียดของพลับพลา ถ้าหากพี่น้องอยากศึกษาเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ฟรีครับ ที่ http://www.ministrybooks.org/life-studies.cfm

วันนี้ผมจะขอเกริ่นคร่าวๆ เกี่ยวกับพลับพลาก่อนครับ พอหอมปากหอมคอ (จะให้ลงรายละเอียดกว่านี้คงจะไม่ได้ เพราะคงจะลึกซึ้งเกินไปสำหรับสมองน้อยๆ ของผมครับ)

เครื่องถวาย (heave offering)

พระธรรมอพยพ 25:1-9 สั่งให้อิสราเอลนำเครื่องถวายมาถวายแด่พระเจ้า เครื่องถวายนี้เป็นเครื่องถวายชนิด heave offering แต่ส่วนใหญ่จะแปลว่าเป็นเครื่องถวายเฉยๆ

Heave offering เป็นเครื่องถวายที่ปุโรหิตมอบแด่พระเจ้า และหลังจากเสร็จพิธี ปุโรหิตก็จะนำเครื่องถวายเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าให้นำมาถวายในพระธรรมตอนนี้ ก็จะเป็นสิ่งที่ใช้ในการสร้างพลับพลานั่นเอง

เช่นเดียวกับเครื่องถวายทั้งหมดในพระคัมภีร์ พระคริสต์เป็นแก่นแท้ของเครื่องถวายนี้ และหากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง heave offering เป็นชนิดของเครื่องถวายที่เล็งถึงพระคริสต์ผู้ที่รับการยกชู เมื่อพระองค์กลับขึ้นสวรรค์ (กิจการ 1:9)

การที่พลับพลาสร้างขึ้นมาจากเครื่องบูชาชนิดนี้ จึงชี้ให้เราเห็นว่า คริสตจักรไม่ได้กำเนิดขึ้นมาจากการคิดค้น สติปัญญา หรือความสามารถของมนุษย์ แต่ก่อขึ้นมาจากรากฐานคือ พระคริสต์ ผู้ที่ได้ผ่านการเกิดเป็นมนุษย์ การทนทุกข์บนโลกนี้ การตายบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาป การฝังศพ การเป็นขึ้นมาจากความตาย และการกลับขึ้นสวรรค์ บัดนี้พระองค์ก็อยู่ในสวรรค์ที่ด้านขวาของพระบิดา คอยอธิษฐานเพื่อผู้เชื่อทุกคน พระคริสต์องค์นี้แหละ คือส่วนประกอบทั้งหมดของคริสตจักรที่มีชีวิต และหากปราศจากพระองค์ คริสตจักรก็จะเป็นเพียงองค์กรธรรมดาองค์กรหนึ่งซึ่งไร้ชีวิตเท่านั้น

วัสดุที่ใช้ในการสร้างพลับพลา

ในข้อ 3-7 เราสามารถแบ่งเครื่องถวายออกได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเล็งถึงพระคริสต์ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่

1.     แร่ธาตุ (ทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์ โอนิกซ์และพลอยอื่นๆ) เล็งถึง ชีวิตของพระคริสต์สำหรับการก่อสร้าง

9 เพราะว่าเราร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า และเป็นตึกของพระองค์
10 โดยพระคุณของพระเจ้าที่ประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้วางรากลงแล้วเหมือนนายช่างผู้ชำนาญ และอีกคนหนึ่งก็มาก่อขึ้น แต่ละคนต้องระวังให้ดีว่าเขาจะก่อขึ้นอย่างไร
11 เพราะว่าใครจะมาวางรากอื่นอีกไม่ได้แล้ว นอกจากที่วางไว้แล้วคือพระเยซูคริสต์
12 บนรากนั้นถ้าใครจะก่อขึ้นด้วยทองคำ เงิน เพชรพลอย ไม้ หญ้าแห้งหรือฟาง
(1 โครินธ์ 3:9-12)

2.     พืช (ด้าย ผ้าป่าน ไม้กระถินเทศ น้ำมันตะเกียง เครื่องเทศ) เล็งถึง ชีวิตของพระคริสต์สำหรับการให้ชีวิตใหม่

เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงดินและตายไป ก็จะคงอยู่เมล็ดเดียว แต่ถ้าตายไปแล้วก็จะงอกขึ้นเกิดผลมาก
(ยอห์น 12:24)

3.     สัตว์ (ขนแพะ หนังแกะ หนังสัตว์) เล็งถึง ชีวิตของพระคริสต์สำหรับการไถ่

วันรุ่งขึ้นยอห์นเห็นพระเยซูกำลังเสด็จมาหาท่าน ท่านจึงกล่าวว่า "จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า ผู้ทรงรับบาปของโลกไป"
(ยอห์น 1:29)

ในรายการของวัตถุต่างๆ เหล่านี้ พระเจ้าได้ระบุส่วนที่เป็นแร่ธาตุเป็นอันดับแรก ได้แก่ ทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์ นี่เป็นเพราะว่าในหัวใจของพระเจ้า พระองค์ปรารถนาที่จะสร้างคริสตจักรขึ้นมา โดยก่อขึ้นบนพระคริสต์ผู้เป็นพระศิลา และโดยพระคริสต์ผู้เป็นพระศิลามุมเอกของคริสตจักร

เราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรไม่ได้
(มัทธิว 16:18)

การก่อสร้างนี้ยังอยู่ในกระบวนการ และจะเสร็จสมบูรณ์ที่นครเยรูซาเล็มใหม่ ที่แห่งนั้น ส่วนประกอบที่เป็นแร่ธาตุ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ ไข่มุก และหินมีค่าต่างๆ จะยังคงอยู่ และเป็นโครงสร้างของพลับพลาถาวรของพระเจ้าตลอดกาล

18 กำแพงนครนั้นสร้างขึ้นด้วยแจสเพอร์ และนครนั้นสร้างด้วยทองคำเนื้อบริสุทธิ์เหมือนแก้วที่ใสสะอาด
19 ฐานศิลาต่างๆ ของกำแพงนครนั้นประดับด้วยอัญมณีทุกชนิด ฐานที่หนึ่งเป็นแจสเพอร์ ที่สองไพลิน ที่สามเป็นโมรา ที่สี่เป็นมรกต
20 ที่ห้าโอนิกซ์ ที่หกคาร์เนเลียน ที่เจ็ดเพอริโด ที่แปดเบริล ที่เก้าโทแพซ ที่สิบคริโซเพรส ที่สิบเอ็ดเพทาย ที่สิบสองแอเมทิสต์
21 ประตูทั้งสิบสองประตูนั้นทำด้วยไข่มุกสิบสองเม็ด ประตูละเม็ด และถนนในนครนั้นเป็นทองคำเนื้อบริสุทธิ์เหมือนอย่างแก้วโปร่งใส
(วิวรณ์ 21:18-21)

แม้ว่าส่วนประกอบที่เป็นแร่ธาตุจะสำคัญ แต่ส่วนประกอบที่เป็นพืชและสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการที่จะก่อสร้างคริสตจักรขึ้นได้ เราจำเป็นต้องได้รับการไถ่ และได้รับชีวิตใหม่ของพระคริสต์ นั่นคือ พระคริสต์ไถ่เรา เพื่อเราจะได้รับชีวิตใหม่ และพระคริสต์ให้ชีวิตใหม่แก่เรา เพื่อที่พระองค์จะสามารถก่อสร้างคริสตจักรขึ้นมาได้

ขอบคุณพระเจ้าที่พระองค์ได้ให้พระคริสต์แก่เรา พระคริสต์เป็นทุกสิ่งที่เราต้องการเพื่อที่ชีวิตของเราจะได้รับการสร้างขึ้นร่วมกันเป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้าบนโลกนี้ อันเป็นความปรารถนาในใจของพระเจ้าที่พระองค์มีตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้างโลก

8 แม้ข้าพเจ้าจะเป็นคนเล็กน้อยยิ่งกว่าคนเล็กน้อยที่สุดในพวกธรรมิกชนทั้งหมด ก็ประทานพระคุณนี้แก่ข้าพเจ้าเพื่อประกาศแก่คนต่างชาติถึงความบริบูรณ์ของพระคริสต์ที่สุดจะหยั่งถึงได้
9 และทรงให้ทุกคนเห็นว่าอะไรคือแผนงานของความล้ำลึกที่พระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่งทรงปิดบังไว้ตลอดหลายยุคที่ผ่านมา
10 เพื่อว่าพวกภูตผีที่ครอบครองและพวกภูตผีที่มีอำนาจในสวรรคสถาน จะได้รู้จักพระปัญญาอันมากล้นหลายด้านของพระเจ้าโดยทางคริสตจักรในเวลานี้
11 ทั้งนี้เป็นไปตามพระประสงค์นิรันดร์ที่พระองค์ทรงทำแล้วในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
(เอเฟซัส 3:8-11)

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์
โครงร่างเนื้อหา ประยุกต์จากหนังสือของ Living Stream Ministry
  • The holy word for morning revival: crystallization-study of Exodus, week 24: The vision of God in a transparent and clear heaven and the heavenly vision concerning the desire of God's heart to have a dwelling place with man on earh.
  • Life study of Exodus, messages 80-83.

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น