Saturday, 31 October 2015

อพยพ บทเรียน 21: "การฉลองเทศกาลเลี้ยง"



ตกผลึกความจริงจากพระธรรมอพยพ 
บทเรียน 21:
"การฉลองเทศกาลเลี้ยง"
(อพยพ 23:14-19)

ศึกษาเกี่ยวกับเทศกาลเลี้ยงที่พระเจ้ากำหนดให้อิสราเอลฉลอง 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นแบบอย่างของความเพลิดเพลินของผู้เชื่อกับความสัมพันธ์กับพระเจ้าองค์พระตรีเอกานุภาพ

14 จง​ฉลอง​เทศ​กาล​เลี้ยง​ให้​เกียรติ​เรา​ปี​ละ​สาม​ครั้ง
15 จง​ถือ​เทศ​กาล​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เจ้า​จง​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ​เจ็ด​วัน​ตาม​ที่​เรา​สั่ง​เจ้า​ไว้​แล้ว ตาม​เวลา​ที่​กำ​หนด​ไว้​ใน​เดือน​อาบีบ เพราะ​ใน​เดือน​นั้น​เจ้า​ออก​จาก​อียิปต์ ห้าม​ผู้ใด​มา​เข้า​เฝ้า​เรา​มือ​เปล่า
16 และ​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​แรก​ที่​เกิด​จาก​แรง​งาน​ของ​เจ้า ซึ่ง​เจ้า​ได้​หว่าน​พืช​ลง​ใน​นา เจ้า​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี เมื่อ​เจ้า​เก็บ​พืช​ผล​จาก​ทุ่ง​นา​อัน​เป็น​ผล​งาน​ของ​เจ้า
17 ให้​ผู้​ชาย​ทุก​คน​ของ​เจ้า​เข้า​เฝ้า​พระ​ยาห์​เวห์​องค์​เจ้า​นาย​ปี​ละ​สาม​ครั้ง
18 ห้าม​ถวาย​เลือด​จาก​เครื่อง​สัตว​บูชา​ของ​เรา​พร้อม​กับ​ขนม​ปัง​ใส่​เชื้อ และ​ห้าม​ปล่อย​ให้​ไข​มัน​ใน​เทศ​กาล​เลี้ยง​ของ​เรา​เหลือ​อยู่​จน​ถึง​รุ่ง​เช้า
19 จง​นำ​ส่วน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​พืช​ผล​แรก​จาก​ที่​ดิน​ของ​เจ้า​มา​ยัง​พระ​นิเวศ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​เจ้า​
(อพยพ 23:14-19)

พระธรรมอพยพช่างอัศจรรย์จริงๆ เต็มไปด้วยภาพต่างๆ ที่แฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวข้องกับชีวิตคริสเตียน ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้มากมาย

พี่น้องเคยเป็นเหมือนผมรึเปล่าครับ เวลาผมอ่านครึ่งแรกของพระธรรมเล่มนี้ ก็คิดว่าสนุกดี เพราะเป็นเรื่องราวของการนำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ เต็มไปด้วยเรื่องที่น่าตื่นเต้น จนพอมาถึงครึ่งหลัง ผมก็เริ่มรู้สึกสนุกน้อยลงเยอะ เพราะเป็นการบันทึกกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ที่ผมรู้สึกเช่นนี้ เพราะผมอ่านพระธรรมอพยพไม่เป็น ผมศึกษาเพียงตื้นๆ ผมเห็นพระธรรมเล่มนี้เป็นเพียงเรื่องราว และกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เท่านั้นเอง จึงทำให้เมื่อถึงครึ่งหลัง ผมอาจจะซาบซึ้งมากจนหลับเลยทีเดียว

แต่หากพี่น้องอยากได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระธรรมเล่มนี้จริงๆ พี่น้องจำเป็นต้องเจาะลึก หาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในพระคำของพระเจ้า หากทำเช่นนั้น เราจะพบว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เชื่อในพันธสัญญาใหม่เลยแม้แต่นิดเดียว กลับเต็มไปด้วยความหมายที่เล็งไปถึงประสบการณ์ชีวิตของเรากับพระคริสต์ และมีสิ่งที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตติดตามพระคริสต์ได้อย่างดีเยี่ยมมากมายทีเดียว

ผมรู้สึกขอบคุณพันธกิจของ Watchman Nee และ Witness Lee ที่ได้ให้แนวคิดต่างๆ กับผม ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เห็นด้วยกับศาสนศาสตร์ของท่านทั้งสองทุกเรื่อง (ซึ่งอาจเป็นเพราะผมมีความรู้ไม่มากพอ หรือผมอาจจะเข้าใจผิดไปเอง) แต่การตีความพระคัมภีร์ที่ท่านทั้งสองได้ถ่ายทอดมา มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ทำให้ผมสนุกและได้รับการหนุนใจจากการอ่านพระคำของพระเจ้ามากเลยครับ

ธรรมบัญญัติที่พระเจ้าให้นั้นมีค่ามาก เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์แบบที่สุด และเป็นศีลธรรมสูงสุด และดังเช่นที่ผมได้เล่าให้ฟังในบทก่อนหน้านี้ เป้าหมายของธรรมบัญญัติไม่ใช่เพื่อให้เราพยายามรักษาด้วยตัวเองอย่างครบถ้วน แต่หัวใจของธรรมบัญญัติคือเพื่อสำแดงให้เห็นบุคลิกลักษณะของพระเจ้า เพื่อสำแดงให้เราเห็นว่าเราบกพร่องและตกจากมาตรฐานของพระเจ้า และนำเราให้พึ่งพาพระคุณของพระองค์ในองค์พระเยซูคริสต์ ซึ่งพระคุณนี่เองจะช่วยให้เราสามารถทำตามธรรมบัญญัติได้อย่างครบถ้วนโดยอัตโนมัติ

โมเสสได้บันทึกบัญญัติสิบประการไว้ในอพยพบทที่ 20 ซึ่งเป็นธรรมบัญญัติที่ล้ำค่ามาก ต่อจากนั้นท่านได้บันทึกกฎข้อบังคับต่างๆ ที่พระเจ้าได้ให้ไว้ ในบทที่ 21-23 ซึ่งเหมือนเป็นส่วนขยายของบัญญัติสิบประการ

เมื่อเราดูภาพรวม เราจะเห็นได้ว่าช่วงแรกของกฎข้อบังคับ เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติในครอบครัวและสังคม เน้นเน้นเพื่อรักษามนุษย์ไว้ เพราะว่านี่คือวัตถุประสงค์ของพระองค์ที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา พระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อพระองค์เอง และพระองค์ต้องการให้พวกเขาเป็นตัวแทนของพระองค์ สำแดงพระองค์ให้คนบนโลกนี้ได้เห็นบุคลิกลักษณะของพระองค์ เช่น ความบริสุทธิ์ ความชอบธรรม ความรักแท้ ความเมตตากรุณา ฯลฯ พระองค์ต้องการให้ลูกของพระองค์เป็นเหมือนพระองค์

ที่น่าตื่นเต้นคือ กฎข้อบังคับในอพยพ 21-23 จบลงที่การฉลองเทศกาล 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นบทสรุปของการดำเนินชีวิตในพระองค์ นั่นคือ เพื่อที่เราจะเพลิดเพลิดเพลินกับองค์ตรีเอกานุภาพชั่วนิรันดร์ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่เราจะพบได้เมื่อเราอยู่ในพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า อพยพ 21-23 แสดงภาพของเป้าหมายของมนุษย์ นั่นคือ เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า และเพลิดเพลินกับพระองค์ตลอดกาล (Westminster Catechism)

เทศกาลทั้งสามมีอะไรบ้าง? แสดงให้เราเห็นภาพของการเฉลิมฉลองพระเจ้าองค์ตรีเอกานุภาพได้อย่างไร? และเราจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตคริสเตียนได้อย่างไร? โปรดติดตามอ่านต่อไปนะครับ

1. เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ

จง​ถือ​เทศ​กาล​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เจ้า​จง​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ​เจ็ด​วัน​ตาม​ที่​เรา​สั่ง​เจ้า​ไว้​แล้ว ตาม​เวลา​ที่​กำ​หนด​ไว้​ใน​เดือน​อาบีบ เพราะ​ใน​เดือน​นั้น​เจ้า​ออก​จาก​อียิปต์ ห้าม​ผู้ใด​มา​เข้า​เฝ้า​เรา​มือ​เปล่า
(อพยพ 23:15)

ในอพยพบทที่ 12 มีการบัญญัติพิธีปัสกาขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าพิธีนี้เป็นภาพของการสละชีวิตของพระคริสต์ เพื่อตายไถ่บาปแทนเรา และเป็นภาพของโลหิตของพระคริสต์ ที่ปกคลุมบาปของเราไว้ ทำให้เราหลุดพ้นจากอำนาจของซาตาน โลก และความบาป ทำให้เราสามารถกลับมาคืนดีกับพระเจ้าได้อีกครั้งหนึ่ง สรรเสริญพระเยซู ผู้เป็น "ปัสกา" ที่สมบูรณ์แบบของเรา

และหลังจากพิธีปัสกาแล้ว ก็มีเทศกาลหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาติดๆ ที่ชาวอิสราเอลจะต้องฉลองเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ นั่นคือ "เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ"

และอีกครั้งหนึ่ง ขนมปังไร้เชื้อเป็นภาพที่เล็งถึงพระคริสต์ผู้เป็น "ขนมปังไร้เชื้อ" ของเรา พระองค์เป็นอาหารแห่งชีวิตของเรา และเป็นผู้ที่ไร้บาปอย่างสิ้นเชิง

7 จง​ชำระ​เชื้อ​เก่า​เสีย เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​เป็น​แป้ง​ดิบ​ก้อน​ใหม่ เหมือน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เพราะ​พระ​คริสต์​ผู้​ทรง​เป็นปัสกา​ของ​เราได้​ถูก​ฆ่า​บูชา​เสีย​แล้ว​
8 เหตุ​ฉะนั้น​ให้​เรา​ถือปัสกา​นั้น มิใช่​ด้วย​เชื้อ​เก่า ซึ่ง​เป็น​เชื้อ​ของ​ความ​ชั่ว​ช้า​เลว​ทราม แต่​ด้วย​ขนม​ปัง​ที่​ไม่​มี​เชื้อ คือ​ความ​จริงใจ​และ​สัจจะ
(1 โครินธ์ 5:7-8)

ดังนั้น เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ จึงเป็นภาพของการเฉลิมฉลองพระคริสต์ ผู้เป็นขนมปังไร้เชื้อของเรา

ช่างดีเหลือเกิน ที่ชีวิตคริสเตียน เป็นเรื่องของการเฉลิมฉลองพระคริสต์ เป็นเรื่องของการเพลิดเพลินกับการกินและดื่มพระคริสต์ ผู้เป็นอาหารแห่งชีวิต และน้ำแห่งชีวิตที่ธำรงเลี้ยงชีวิตพวกเราอยู่เสมอ

และนี่ก็คือเคล็ดลับของการดำรงชีวิตที่บริสุทธิ์ แน่นอน มนุษย์ยังมีความอ่อนแอ คงจะไม่มีใครที่สามารถดำรงชีวิตที่ไร้บาปอย่างสิ้นเชิง แต่แม้ว่าเราจะดำรงชีวิตที่ไร้บาปไม่ได้ 100% เราสามารดำรงชีวิตที่ทำบาปน้อยลงได้ทุกวันๆ และวิธีเดียวที่เราจะทำได้ ก็คือการเฉลิมฉลองพระคริสต์ ด้วยการกินและดื่มพระองค์ผู้เป็นขนมปังไร้เชื้อของเรา แล้วชีวิตของเราก็จะได้รับการเติมด้วยชีวิตของพระองค์ ซึ่งเป็นชีวิตที่ไร้บาปอย่างสมบูรณ์แบบ

นี่คือวงจรที่เราจะพบได้ ก็คือ ยิ่งเราเพลิดเพลินกับพระองค์ เราก็จะยิ่งบาปน้อยลง และยิ่งเราบาปน้อยลง เราก็จะยิ่งเพลิดเพลินกับพระองค์ได้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากพี่น้องมีบาปใดที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สำแดงให้เห็นในชีวิตแล้ว อย่าปล่อยทิ้งไว้นะครับ เพราะบาปนั้นจะเป็นเหมือนเชื้อขนมปังที่เล็กนิดเดียว แต่ทำให้ขนมปังทั้งก้อนฟูได้ เชื้อแห่งบาปนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ของพี่น้องกับพระคริสต์มีปัญหา แม้ว่าความบาปนั้นจะไม่ได้ส่งผลต่อการสูญเสียความรอด (เพราะบาปในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพี่น้องได้รับการชำระหมดแล้วโดยพระโลหิตอันล้ำค่าของพระองค์) แต่ความบาปนั้นจะส่งผลให้ชีวิตของพี่น้องขาดความชื่นชมยินดี และเต็มไปด้วยอารมณ์เซ็ง อารมณ์เครียด อารมณ์เบื่อ

แต่นี่คือพระสัญญาของพระเจ้า คือเมื่อใดที่พี่น้องนำบาปนั้นมาสารภาพกับพระองค์ ความบาปนั้นจะได้รับการจัดการและหมดพิษสงในชีวิตของพี่น้อง

ถ้า​เรา​สารภาพ​บาป​ของ​เรา ​พระ​องค์​ทรง​สัตย์​ซื่อ​และ​เที่ยง​ธรรม ​ก็​จะ​ทรง​โปรด​ยก​บาป​ของ​เรา และ​จะ​ทรง​ชำระ​เรา​ให้​พ้น​จาก​การ​อธรรม​ทั้งสิ้น
(1 ยอห์น 1:9)

เมื่อพี่น้องจัดการกับบาปนั้นแล้ว พี่น้องก็สามารถกลับมาเพลิดเพลินกับพระคริสต์ได้อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นความสุขที่ดีเยี่ยม และเต็มไปด้วยพรจริงๆ ครับ

2. ​เทศกาล​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​แรก​

และ​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​แรก​ที่​เกิด​จาก​แรง​งาน​ของ​เจ้า ซึ่ง​เจ้า​ได้​หว่าน​พืช​ลง​ใน​นา
(อพยพ 23:16ก)

เทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแรก เป็นเทศกาลเดียวกับ "เทศกาลสัปดาห์" (อพยพ 23:22) และ "เทศกาลเพ็น​เท​คอสต์" ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากวันเริ่มต้นของเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ 50 วัน (เพ็นเทคอสต์ แปลว่า ที่ห้าสิบ)

เมื่อเราพูดถึงคำว่า "ผลแรก" ในพันธสัญญาใหม่ ก็จะมีความหมายเล็งถึง "พระคริสต์ผู้เป็นขึ้นมาจากความตาย"

แต่​บัด​นี้ พระ​คริสต์​ทรง​ถูก​ทำ​ให้​เป็น​ขึ้น​มา​จาก​ความ​ตาย​แล้ว และ​ทรง​เป็น​ผล​แรก​ของ​พวก​ที่​ล่วง​หลับ​ไป
(1 โครินธ์ 15:20)

และนอกจากนี้ พระธรรมโรมยังได้บอกว่า เราผู้เชื่อได้รับ "พระวิญญาณเป็นผลแรก"

และ​ไม่​ใช่​เท่า​นั้น แต่​เรา​เอง​ด้วย ผู้​ได้​รับ​พระ​วิญ​ญาณ​เป็น​ผล​แรก ตัว​เรา​เอง​ก็​ยัง​คร่ำ​ครวญ​คอย​การ​ที่​พระ​เจ้า​จะ​ทรง​ให้​มี​ฐานะ​เป็น​บุตร คือ​ที่​จะ​ทรง​ไถ่​กาย​ของ​เรา
(โรม 8:23)

จากพระคำสองตอนนี้ จึงสรุปได้ว่า "ผลแรก" ในที่นี้ก็คือพระคริสต์ผู้เป็นขึ้นจากความตายและพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการฉลองเทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแรก ก็เป็นการเฉลิมฉลองพระคริสต์ผู้ที่เป็นขึ้นจากความตายและเป็นวิญญาณที่ให้ชีวิตแก่เรา (1 โครินธ์ 15:45) และเป็นการเฉลิมฉลองพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ซึ่งพระคริสต์ได้ให้แก่เรา

สำหรับผู้ที่มีความคุ้นเคยกับพันธสัญญาใหม่ ก็จะรู้ทันทีว่า วันเพ็นเทคอสต์ คือวันที่เหล่าสาวกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการ 2)

ดังนั้น เทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแรก จึงเป็นภาพของการเฉลิมฉลองพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้เป็นผลแรกของเรา
สรรเสริญพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำรงชีวิตอยู่ในเราเสมอ เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เรามีพระเจ้าอยู่กับเรา และอยู่ในเรา ผลที่เกิดขึ้นจากการเพลิดเพลินกับพระวิญญาณก็คือ ชีวิตเราจะได้รับการเปลี่ยนแปลง พระองค์จะนำเราให้ติดสนิทกับเถาองุ่น นั่นคือพระเยซู แล้วเราก็จะเกิดผล

อัครทูตเปาโลบอกว่า เราเป็นไร่นาของพระเจ้า

เพราะ​ว่า​เรา​ทั้ง​หลาย​ร่วมกัน​ทำงาน​เพื่อ​พระ​เจ้า ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​ไร่​นา​ของ​พระ​เจ้า และ​เป็น​ตึก​ของ​พระ​องค์
(1 โครินธ์ 3:9)

เมื่อเราเป็นไร่นาที่อยู่ในพระคริสต์ เราได้รับสารอาหารจากพระองค์ และผลที่เกิดขึ้น อันได้แก่ผลของพระวิญญาณที่ปรากฏในกาลาเทีย 5:22-23 ก็คือบุคลิกลักษณะของพระคริสต์นั่นเอง

ดังนั้น ชีวิตเราจะแสดงผลออกมาเป็นพระคริสต์ คนรอบข้างก็จะได้เห็น สัมผัส และได้รับการบำรุงเลี้ยงชีวิต ผ่านทางชีวิตของเรา

3. เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี

เจ้า​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี เมื่อ​เจ้า​เก็บ​พืช​ผล​จาก​ทุ่ง​นา​อัน​เป็น​ผล​งาน​ของ​เจ้า
(อพยพ 23:26ข)

เทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บพืชผลปลายปี มีอีกชื่อหนึ่งคือ "เทศกาลอยู่เพิง"

เนื่องจากเป็นการเก็บพืชผลครั้งสุดท้ายของปี จึงเป็นภาพที่เล็งถึงความเพลิดเพลินของเราในความบริบูรณ์ของพระเจ้าพระบิดาในพระคริสต์ (โคโลสี 2:9) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เราจะได้รับอย่างเต็มที่ในยุคพันปี เมื่อพระคริสต์จะมาปกครองในโลกนี้เป็นเวลาพันปี

ที่สำคัญ ความเพลิดเพลินของเรายังไม่ได้จบลงแค่ยุคพันปี เพราะเมื่อโลกนี้ถูกชำระด้วยไฟแล้ว จะเกิดฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีศูนย์กลางคือนครเยรูซาเล็มใหม่ ที่ซึ่งเราจะได้เพลิดเพลินกับพระเจ้าชั่วนิรันดร์

2 และ​ข้าพ​เจ้า​ได้​เห็น​นคร​บริ​สุทธิ์ คือ​นคร​เย​รู​ซา​เล็ม​ใหม่​ลอย​ลง​มา​จาก​สวรรค์​และ​จาก​พระ​เจ้า นคร​นี้​เตรียม​พร้อม​เหมือน​อย่าง​เจ้า​สาว​ที่​แต่ง​ตัว​ไว้​สำ​หรับ​สามี
3 ข้าพ​เจ้า​ได้​ยิน​เสียง​ดัง​จาก​พระ​ที่​นั่ง​ว่า “นี่​แน่ะ ที่​ประ​ทับ​ของ​พระ​เจ้า​อยู่​กับ​มนุษย์​แล้ว และ​พระ​องค์​จะ​ประ​ทับ​กับ​เขา​ทั้ง​หลาย พวก​เขา​จะ​เป็น​ชน​ชาติ​ของ​พระ​องค์ พระ​เจ้า​เอง​จะ​สถิต​กับ​เขา และ​จะ​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า​ของ​เขา
(วิวรณ์ 21:2-3)
(คำว่า "ที่ประทับ" ในข้อ 3 แปลตามตัวอักษร เป็นคำเดียวกับคำว่า "เพิง")

ดังนั้นเทศกาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี จึงเป็นภาพของการเฉลิมฉลองพระเจ้าพระบิดา โดยเฉพาะในช่วงยุคพันปี และในฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกใหม่ชั่วนิรันดร์

เมื่อย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์เดิม พระเจ้าตั้งเทศกาลนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนอิสราเอลนึกถึงเหตุการณ์เมื่อพระองค์นำบรรพบุรุษของเขาออกจากอียิปต์ พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในเพิง ซึ่งเป็นที่พักอาศัยเพียงชั่วคราว พระเจ้าเตรียมที่ที่ดีกว่านั้นไว้ให้แก่พวกเขาแล้ว นั่นคือแผ่นดินดีที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้แก่พวกเขา

42 จง​อยู่​ใน​เพิง​เจ็ด​วัน ทุก​คน​ที่​เป็น​ชาว​พื้น​เมือง​อิส​รา​เอล​ให้​เข้า​อยู่​ใน​เพิง
43 เพื่อ​ชาติ​พันธุ์​ของ​เจ้า​จะ​ได้​รับ​รู้​ว่า เมื่อ​เรา​พา​คน​อิส​รา​เอล​ออก​จาก​แผ่น​ดิน​อียิปต์​นั้น เรา​ได้​ให้​เขา​อยู่​ใน​เพิง เรา​คือ​ยาห์​เวห์ พระ​เจ้า​ของ​เจ้า
(เลวีนิติ 23:42-43)

เมื่อเราคิดถึงเทศกาลนี้ ขอให้เราระลึกว่า โลกนี้ไม่ใช่บ้านอันถาวรของเรา

ขณะที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร ผมมีความสุขมาก ชีวิตสุขสบาย แต่จะให้ผมซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือตั้งหลักปักฐานที่นี่เลยหรือ? ผมคงจะไม่ทำ เพราะมีเงินไม่พอ (ล้อเล่นครับ) ที่ผมไม่ทำเช่นนั้นเพราะผมรู้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านของผม และเมื่อผมเรียนจบ (ขอพระเจ้าเมตตาที่ผมจะจบครับ) ผมก็จะกลับประเทศไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผม ที่ซึ่งคนที่ผมรักอาศัยอยู่

เช่นเดียวกันครับ ในโลกนี้เราอาจมีความสะดวกสบายมากมาย แต่ที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา พระเจ้าได้เตรียมที่ที่ดีกว่าโลกนี้อย่างเทียบไม่ได้ไว้ให้กับเราแล้วในฟ้าสวรรค์ใหม่และโลกใหม่ ที่นั่นจะเป็นบ้านของเรา และจะเป็นที่ซึ่งเราจะได้อยู่กับผู้ที่เรารักและรักเราตลอดไป

14 เพราะ​ว่า​เรา​ไม่​มี​นคร​ที่​ถาวร​อยู่​ที่นี่ แต่​เรา​แสวง​หา​นคร​ที่​จะ​มา​ใน​ภาย​หน้า
15 เพราะ​ฉะนั้น ให้​เรา​ถวาย​คำ​สรร​เสริญ​เป็น​เครื่อง​บูชา​แด่​พระ​เจ้า​ตลอด​ไป​โดย​ทาง​พระ​องค์​นั้น คือ​ถวาย​ผล​จาก​ปาก​ที่​ยอม​รับ​เชื่อ​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์
16 อย่า​ละ​เลย​ที่​จะ​ทำ​ความ​ดี และ​แบ่ง​ปัน​ข้าว​ของ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน เพราะ​เครื่อง​บูชา​อย่าง​นั้น​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระ​เจ้า
(ฮีบรู 13:14-16)

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์
โครงร่างเนื้อหา ประยุกต์จากหนังสือของ Living Stream Ministry
  • The holy word for morning revival: crystallization-study of Exodus, week 21: Keeping feasts unto God three times a year typifying the full enjoyment of the Triune God in Christ.
  • Life study of Jeremiah, message 69-72.

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น
 

Saturday, 24 October 2015

อพยพ บทเรียน 20: "โลหิตแห่งพันธสัญญา"



ตกผลึกความจริงจากพระธรรมอพยพ
บทเรียน 20:


"โลหิตแห่งพันธสัญญา"

ศึกษาเกี่ยวกับโลหิตแห่งพันธสัญญาที่มีการกล่าวถึงในพิธีประกาศใช้ธรรมบัญญัติ (อพยพ 24) ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในฐานะผู้เชื่อในพันธสัญญาใหม่อย่างไร 


4 โมเสสจึงจารึกพระวจนะของพระยาห์เวห์ไว้ทุกคำ แล้วลุกขึ้นแต่เช้า สร้างแท่นบูชาขึ้นที่เชิงภูเขา และตั้งเสาหินขึ้นสิบสองต้นตามจำนวนสิบสองเผ่าของอิสราเอล
5 ท่านใช้ให้พวกคนหนุ่มๆ ของอิสราเอลถวายเครื่องบูชาเผาทั้งตัวและถวายโคเป็นเครื่องศานติบูชาแด่พระยาห์เวห์
6 แล้วโมเสสเอาเลือดโคครึ่งหนึ่งใส่ไว้ในอ่าง อีกครึ่งหนึ่งก็ประพรมที่แท่นบูชานั้น
7 ท่านเอาหนังสือพันธสัญญามาอ่านให้ประชาชนฟัง พวกเขากล่าวว่า "ทุกคำที่พระยาห์เวห์ตรัสนั้น เราจะทำตาม และเราจะเชื่อฟัง"
8 โมเสสก็เอาเลือดประพรมประชาชนและกล่าวว่า "นี่เป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งพระยาห์เวห์ทรงทำกับพวกท่านตามพระวจนะทั้งสิ้นเหล่านี้"
(อพยพ 24:4-8)

บทเรียนที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ "พันธสัญญา" ในพระคัมภีร์แล้ว คราวนี้ผมอยากจะขอกลับมาสู่ อพยพ 24 ซึ่งเป็นการประกาศใช้ธรรมบัญญัติอย่างเป็นทางการ และทำให้ธรรมบัญญัตินั้นกลายเป็นพันธสัญญา ในพิธีประกาศใช้ธรรมบัญญัตินี้ มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อชีวิตของผู้เชื่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ "โลหิตแห่งพันธสัญญา" และหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรม โมเสสก็ขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้า อยู่กับพระองค์เป็นเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืน

สำหรับเราทุกคนที่เคยอ่านพระคัมภีร์ใหม่แล้ว ก็คงจะคุ้นๆ กับคำว่า "โลหิตแห่งพันธสัญญา" แน่นอนโลหิตแห่งพันธสัญญาในพิธีการประกาศใช้ธรรมบัญญัตินั้นเป็นเพียงเลือดของสัตว์ที่โมเสสถวายบนแท่นบูชาเท่านั้น มันไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรหรอก แต่ความสำคัญของมันก็คือ มันเป็นเงาของของแท้ที่จะเกิดขึ้นตามมา นั่นคือ พระโลหิตล้ำค่าของพระเยซู ซึ่งมีผลต่อคนทุกยุคทุกสมัย ทั้งในพระคัมภีร์เดิม พระคัมภีร์ใหม่ และในชีวิตของผู้เชื่อยุคปัจจุบัน

ในคืนที่พระเยซูจะถูกทรยศและถูกจับนั้น พระองค์ได้จัดตั้งพิธีมหาสนิทขึ้นมา ซึ่งมีการกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่น อันเป็นเครื่องหมายถึงร่างกายและพระโลหิตของพระองค์ ที่จะสละสิ้นเพื่อเราทุกคน

26 ระหว่างรับประทานอยู่นั้น พระเยซูทรงหยิบขนมปังขึ้นมา และเมื่อขอพระพรแล้ว ก็ทรงหักส่งให้บรรดาสาวกตรัสว่า "จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา"
27 แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย เมื่อขอบพระคุณแล้ว ก็ทรงส่งให้พวกเขาตรัสว่า "จงรับไปดื่มทุกคนเถิด
28 เพราะว่านี่เป็นโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก"
(มัทธิว 26:28)

ในพระธรรมลูกา พระเยซูประกาศชัดเจนว่า พระองค์ไม่ได้มาเพื่อเติมเต็มพันธสัญญาเดิมเท่านั้น แต่พระองค์ยังได้ประกาศใช้ "พันธสัญญาใหม่" โดยโลหิตของพระองค์

"เมื่อรับประทานแล้ว จึงทรงหยิบถ้วยและทรงทำเหมือนกันตรัสว่า "ถ้วยนี้ที่เทออกเพื่อท่านทั้งหลาย เป็นพันธสัญญาใหม่โดยโลหิตของเรา"
(ลูกา 22:20)

เมื่อพูดถึงคำว่า "ใหม่" เราอาจจะคิดถึงว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลังของ "เดิม" (ถ้าหากว่าคำว่า "ใหม่" มีความหมายแค่ในเชิงเวลาแล้ว ตอนนี้พันธสัญญาใหม่ที่มีอายุ 2000 ปีก็คงจะเก่าแล้วใช่รึเปล่าครับ?) แต่แท้จริงแล้ว คำว่า "ใหม่" ยังมีความหมายในเชิงคุณภาพด้วย นั่นคือ พันธสัญญาใหม่ดีกว่าพันธสัญญาเดิมอย่างเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้อัครทูตเปาโลจึงเน้นย้ำอย่างแข็งขันว่า เมื่อเราอยู่ภายใต้พันธสัญญาใหม่แล้ว อย่ากลับไปใช้ชีวิตแบบคนที่อยู่ในพันธสัญญาเดิมอีก

แต่บัดนี้พระเยซู ทรงได้รับพันธกิจที่สูงส่งกว่าของพวกเขา เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นคนกลางแห่งพันธสัญญาอันประเสริฐกว่า ซึ่งตั้งอยู่บนพระสัญญาที่ประเสริฐกว่า
(ฮีบรู 8:6)

พันธสัญญาใหม่ที่พระเยซูได้ทำกับเราเกิดผลสมบูรณ์บนกางเขน เมื่อพระองค์สละชีวิตเพื่อไถ่บาปของเราทุกคน และพระโลหิตของพระองค์ก็หลั่งไหลออกมา เพราะการตายของพระองค์ สัญญา/ข้อตกลงก็กลายเป็นพินัยกรรม ทำให้ทุกคนที่เชื่อวางใจในพระองค์ก็ได้รับมรดกแห่งพระพรกันถ้วนหน้า

บทเรียนนี้ ผมขอเล่าให้ฟังต่อว่า พระพรอันยอดเยี่ยมที่เราได้รับในฐานะผู้เชื่อใหม่ผ่านทาง "โลหิตแห่งพันธสัญญา" นั้นมีอะไรบ้าง

1. เราได้รับ "การไถ่" ผ่านทางโลหิตแห่งพันธสัญญา

"เพราะว่านี่เป็นโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก"
(มัทธิว 26:28)

18 พวกท่านรู้ว่าพวกท่านได้รับการไถ่ออกจากการดำเนินชีวิตที่ไร้สาระ ซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกท่าน ไม่ใช่ไถ่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้เช่นเงินหรือทอง
19แต่ด้วยพระโลหิตล้ำค่าของพระคริสต์ ดังเลือดลูกแกะที่ไร้ตำหนิและไร้จุดด่างพร้อย
(1 เปโตร 1:18-19)

10 นี่คือพันธสัญญาที่เราจะทำกับชนชาติอิสราเอล ภายหลังจากสมัยนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส "เราจะบรรจุธรรมบัญญัติของเราไว้ในจิตใจของพวกเขา และเราจะจารึกมันไว้ในดวงใจของพวกเขา และเราจะเป็นพระเจ้าของพวกเขา และพวกเขาจะเป็นประชากรของเรา
11 และพวกเขาจะไม่สอนเพื่อนบ้าน และพี่น้องของตนแต่ละคนว่า 'จงรู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้า' เพราะเขาทุกคนจะรู้จักเรา ตั้งแต่คนต่ำต้อยที่สุดจนถึงคนใหญ่โตที่สุด
12 เพราะเราจะเมตตาต่อการอธรรมของพวกเขา และจะไม่จดจำบรรดาบาปของพวกเขาไว้เลย"
(ฮีบรู 8:10-12)

นี่คือใจความสำคัญของข่าวดีเรื่องพระเยซู มนุษย์ทุกคนตกมาตรฐานของพระเจ้าผู้บริสุทธิ์หมดจด เขาไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้เพราะความบาปของเขา บั้นปลายชีวิตของเขานั้นแน่นอน นั่นคือความตายนิรันดร์ แต่เพราะความรัก พระเยซูได้ยอมตายบนไม้กางเขน เพื่อเป็นเครื่องบูชาลบล้างบาปให้กับมนุษย์ และทุกคนที่เชื่อวางใจในพระองค์ ก็ได้รับผลของโลหิตล้ำค่าแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาเพื่อเรา พระโลหิตนั้นจะชำระชีวิตของเราให้สะอาดหมดจด พระเจ้าจะไม่จดจำบาปของเราอีกต่อไป
นอกจากนั้น 1 โครินธ์ 10:16 ยังได้เรียกถ้วยของพิธีมหาสนิทว่าเป็น "ถ้วยแห่งพร"

ถ้วยแห่งพร ซึ่งเราได้ขอพรนั้นทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสต์ไม่ใช่หรือ? ขนมปังซึ่งเราหักนั้นทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสต์ไม่ใช่หรือ?
(1 โครินธ์ 10:16)

พระเยซูผู้ซึ่งสมควรดื่มจากถ้วยแห่งพร ยอมดื่มจากถ้วยแห่งพระพิโรธของเราเสีย เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องดื่มจากถ้วยแห่งพระพิโรธอีกต่อไป

นี่เป็นข่าวดีที่ยิ่งใหญ่จริงๆ! คนบาปที่สมควรจะต้องดื่มจากถ้วยแห่งพระพิโรธของพระเจ้า กลายเป็นคนชอบธรรมหรือคนบุญที่สามารถดื่มจาก "ถ้วยแห่งพร" ได้ ผ่านทางโลหิตล้ำค่าแห่งพันธสัญญานี้นี่เอง

2. เราได้รับ "ใจใหม่ วิญญาณใหม่ และวิญญาณของพระเจ้า" ผ่านทางโลหิตแห่งพันธสัญญา

26 เราจะให้ใจใหม่แก่พวกเจ้า และเราจะบรรจุวิญญาณใหม่ไว้ภายในของเจ้าทั้งหลาย เราจะนำใจหินออกจากเนื้อของเจ้า และให้ใจเนื้อแก่เจ้า
27 เราจะใส่วิญญาณของเราไว้ภายในของเจ้าทั้งหลาย แล้วทำให้เจ้าดำเนินตามกฎเกณฑ์ของเรา และรักษากฎหมายของเรา ทั้งทำตามนั้น
(เอเสเคียล 36:26-27)

ผลของโลหิตแห่งพันธสัญญาในเรื่องของการไถ่เป็นสิ่งที่ดีล้ำเลิศสำหรับผู้เชื่อทุกคน และเราทุกคนก็สำนึกในพระคุณเพราะการไถ่ของพระองค์ แต่ผลของโลหิตแห่งพันธสัญญาไม่ได้จบลงแค่เรื่องของการไถ่เราให้พันจากบาปเท่านั้น พระโลหิตแห่งพันธสัญญาได้ให้สิ่งใหม่แก่เราสามสิ่ง ซึ่งเราไม่มีเมื่อเราเกิดจากครรภ์มารดา ได้แก่ ใจใหม่ วิญญาณใหม่ และวิญญาณของพระเจ้า

ใจใหม่

คำว่า "หัวใจ" ในพระคัมภีร์นั้นหมายถึงสิ่งใด?

ชีวิตของมนุษย์มีสามส่วน ได้แก่ ร่างกาย (body, biological life) จิตใจ (soul, psychological life, ประกอบด้วย ความคิด ความตั้งใจ และความรู้สึก) และจิตวิญญาณ (spirit, spiritual life) (1 เธสะโลนิกา 5:23; ฮีบรู 4:12)

คำว่า "หัวใจ" เป็นคำที่ใช้อ้างอิงถึงส่วนของจิตใจทั้งสามส่วน ได้แก่ ความคิด ความตั้งใจ และความรู้สึก บวกกับมโนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ หน้าที่ของหัวใจที่สำคัญ คือใช้รักพระเจ้า

หลังจากการล้มลงในบาปของอาดัมและเอวา มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับใจหิน ซึ่งไม่สามารถรักพระเจ้าได้
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ผมมักจะนึกถึงโรคความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจแต่กำเนิดบางชนิด ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถหดตัวได้เป็นปกติ ไม่มียาอะไรสามารถรักษาได้ และความหวังเดียวของผู้ป่วย คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

พระเจ้าคือแพทย์ผ่าตัดหัวใจที่เยี่ยมยอดของเรา พระองค์ไม่ได้พยายามจะเยียวยาด้วยการเปลี่ยนแปลงหัวใจของเรา เพราะเราเป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย สิ่งที่พระองค์ทำ คือ ผ่าตัดเอาหัวใจของเราออกมา และใส่หัวใจดวงใหม่ให้แก่เรา ซึ่งเป็นหัวใจที่สามารถรักพระเจ้าได้ หัวใจดวงนี้ไม่ใช่ใจหินอีกต่อไป แต่เป็นใจเนื้อ

วิญญาณใหม่

จิตวิญญาณ คืออวัยวะหนึ่งของเรา แม้เราจะมองไม่เห็น แต่อวัยวะนี้มีอยู่จริง อวัยวะนี้มีความสำคัญมากและไม่มีอวัยวะอื่นจะมาทดแทนได้ เราใช้จิตวิญญาณในการติดต่อกับพระเจ้า ต้อนรับพระเจ้า รับพระเจ้าเข้ามาในชีวิต และมีประสบการณ์กับพระองค์

ผลของความบาป ทำให้มนุษย์ตายฝ่ายวิญญาณ และการตายฝ่ายวิญญาณ ก็คือการที่จิตวิญญาณของเราไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ นั่นคือ ถูกตัดขาดจากพระเจ้า

สรรเสริญพระเจ้า ผ่านทางโลหิตแห่งพันธสัญญา เราได้รับจิตวิญญาณใหม่ นั่นคือเราได้เกิดใหม่ฝ่ายวิญญาณ จิตวิญญาณเรากลับมามีชีวิต และในพระคริสต์ เราก็สามารถติดต่อกับพระเจ้า ต้อนรับพระเจ้า รับพระเจ้าเข้ามาในชีวิต และมีประสบการณ์กับพระองค์ได้ตลอดเวลา

วิญญาณของพระเจ้า

นอกจากที่เราจะได้รับวิญญาณใหม่แล้ว พระเจ้ายังได้สัญญาว่าพระองค์จะให้พระวิญญาณของพระองค์มาอยู่ในชีวิตของเราด้วย และผลของการสถิตอยู่ด้วยของพระวิญญาณของพระองค์ก็คือ ชีวิตเราจะได้รับการเปลี่ยนจิตใจใหม่ให้เป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้นทุกวัน และได้รับฤทธิ์เดชในการดำเนินชีวิตติดตามและรับใช้พระองค์ด้วย

3. เราได้รับ "ความสามารถในการรับใช้ และความเพลิดเพลินกับพระเจ้า" ผ่านทางโลหิตแห่งพันธสัญญา

14 ข้าพเจ้าตอบท่านว่า "ท่านเจ้าข้า ท่านเองก็ทราบอยู่แล้ว" ท่านจึงบอกข้าพเจ้าว่า "คนเหล่านี้เป็นคนที่มาจากความยากลำบากครั้งยิ่งใหญ่ พวกเขาชำระล้างเสื้อผ้าของเขาด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดกจนขาวสะอาด
15 เพราะเหตุนี้ เขาทั้งหลายจึงได้อยู่หน้าพระที่นั่งของพระเจ้า และปรนนิบัติพระองค์ในพระวิหารของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืน และพระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่งจะทรงคุ้มครองพวกเขา
16 พวกเขาจะไม่หิวหรือกระหายอีกเลย ดวงอาทิตย์และความร้อนจะไม่แผดเผาเขาอีกต่อไป
17 เพราะว่าพระเมษโปดกผู้ทรงอยู่กลางพระที่นั่งนั้นจะทรงเลี้ยงดูพวกเขา และจะทรงนำเขาไปยังน้ำพุแห่งชีวิต และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขาทั้งหลาย"
(วิวรณ์ 7:14-17)

มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระโลหิตของพระคริสต์ ผู้ทรงถวายพระองค์เองที่ปราศจากตำหนิแด่พระเจ้าโดยพระวิญญาณนิรันดร์ ก็จะทรงชำระมโนธรรมของเราจากการประพฤติที่เปล่าประโยชน์ เพื่อเราจะปรนนิบัติพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่
(ฮีบรู 9:14)

เมื่อเราได้รับการไถ่ และได้รับใจใหม่ วิญญาณใหม่ และวิญญาณของพระเจ้าแล้ว โลหิตแห่งพันสัญญาก็จะนำเราให้สามารถปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่ได้

ช่างเป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ที่เราได้รับใช้พระเจ้าของพระทั้งหลาย และกษัตริย์ของกษัตริย์ทั้งหลาย นี่คือสิทธิพิเศษที่ลูกของพระเจ้าเท่านั้นจะได้รับ

นอกจากนี้ ในพระธรรมวิวรณ์ยังได้ให้ภาพแก่เราว่า พระโลหิตของพระเยซูได้ชำระล้างเราจนขาวสะอาด ทำให้เราสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้า และมีโอกาสที่จะเพลิดเพลินกับพระองค์ผู้เป็นมรดกล้ำค่าของเราได้ตลอดกาล เราสามารถมีความสุขกับการกินผลจากต้นไม้แห่งชีวิต และดื่มน้ำพุแห่งชีวิตได้ทุกเวลา และพระองค์จะเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเรา

14 คนทั้งหลายที่ชำระล้างเสื้อผ้าของตนก็เป็นสุข เพื่อว่าพวกเขาจะมีสิทธิ์ในต้นไม้แห่งชีวิต และเข้าไปในนครนั้นโดยทางประตูได้
17 พระวิญญาณและเจ้าสาวกล่าวว่า "เชิญเสด็จมาเถิด" และให้คนที่ได้ยินกล่าวด้วยว่า "เชิญเสด็จมาเถิด" "คนที่กระหายเชิญเข้ามา ใครที่มีใจปรารถนา จงมารับน้ำแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย"
(วิวรณ์ 22:14, 17)

แน่นอนว่าสิ่งนี้คงจะยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบจนกว่าพระเยซูจะกลับมารับเราซึ่งเป็นเจ้าสาวของพระองค์ แต่วันนี้เราก็สามารถมีประสบการณ์กับความเพลิดเพลินที่สุดยอดนี้ได้ พระเยซูคืออาหารแห่งชีวิตที่เรารับประทานได้ทุกวัน พระเยซูคือน้ำแห่งชีวิตที่เราสามารถดื่มได้ตลอดเวลา นี่เป็นชิมลางของสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในฟ้าสวรรค์ใหม่และโลกใหม่ที่พระเจ้าได้วางแผนไว้เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์ และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบตลอดกาล

20 ขอพระเจ้าแห่งสันติสุข ผู้ทรงนำพระผู้เลี้ยงแกะยิ่งใหญ่คือพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราขึ้นมาจากความตาย โดยโลหิตแห่งพันธสัญญานิรันดร์
21 ทรงให้พวกท่านเพียบพร้อมด้วยสิ่งดีทุกอย่าง เพื่อที่จะทำตามพระทัยของพระองค์โดยทรงทำงานในเรา ให้เกิดผลเป็นที่พอพระทัยในสายพระเนตรของพระองค์ทางพระเยซูคริสต์ ขอพระสิริจงมีแด่พระองค์สืบๆ ไปเป็นนิตย์ อาเมน
(ฮีบรู 13:20-21)

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์

โครงร่างเนื้อหา ประยุกต์จากหนังสือของ Living Stream Ministry

  • The holy word for morning revival: crystallization-study of Exodus, week 20: The blood of the covenant.
  • Life study of Jeremiah, message 78-79.

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น