Saturday, 31 October 2015

อพยพ บทเรียน 21: "การฉลองเทศกาลเลี้ยง"



ตกผลึกความจริงจากพระธรรมอพยพ 
บทเรียน 21:
"การฉลองเทศกาลเลี้ยง"
(อพยพ 23:14-19)

ศึกษาเกี่ยวกับเทศกาลเลี้ยงที่พระเจ้ากำหนดให้อิสราเอลฉลอง 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นแบบอย่างของความเพลิดเพลินของผู้เชื่อกับความสัมพันธ์กับพระเจ้าองค์พระตรีเอกานุภาพ

14 จง​ฉลอง​เทศ​กาล​เลี้ยง​ให้​เกียรติ​เรา​ปี​ละ​สาม​ครั้ง
15 จง​ถือ​เทศ​กาล​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เจ้า​จง​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ​เจ็ด​วัน​ตาม​ที่​เรา​สั่ง​เจ้า​ไว้​แล้ว ตาม​เวลา​ที่​กำ​หนด​ไว้​ใน​เดือน​อาบีบ เพราะ​ใน​เดือน​นั้น​เจ้า​ออก​จาก​อียิปต์ ห้าม​ผู้ใด​มา​เข้า​เฝ้า​เรา​มือ​เปล่า
16 และ​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​แรก​ที่​เกิด​จาก​แรง​งาน​ของ​เจ้า ซึ่ง​เจ้า​ได้​หว่าน​พืช​ลง​ใน​นา เจ้า​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี เมื่อ​เจ้า​เก็บ​พืช​ผล​จาก​ทุ่ง​นา​อัน​เป็น​ผล​งาน​ของ​เจ้า
17 ให้​ผู้​ชาย​ทุก​คน​ของ​เจ้า​เข้า​เฝ้า​พระ​ยาห์​เวห์​องค์​เจ้า​นาย​ปี​ละ​สาม​ครั้ง
18 ห้าม​ถวาย​เลือด​จาก​เครื่อง​สัตว​บูชา​ของ​เรา​พร้อม​กับ​ขนม​ปัง​ใส่​เชื้อ และ​ห้าม​ปล่อย​ให้​ไข​มัน​ใน​เทศ​กาล​เลี้ยง​ของ​เรา​เหลือ​อยู่​จน​ถึง​รุ่ง​เช้า
19 จง​นำ​ส่วน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​พืช​ผล​แรก​จาก​ที่​ดิน​ของ​เจ้า​มา​ยัง​พระ​นิเวศ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​เจ้า​
(อพยพ 23:14-19)

พระธรรมอพยพช่างอัศจรรย์จริงๆ เต็มไปด้วยภาพต่างๆ ที่แฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวข้องกับชีวิตคริสเตียน ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้มากมาย

พี่น้องเคยเป็นเหมือนผมรึเปล่าครับ เวลาผมอ่านครึ่งแรกของพระธรรมเล่มนี้ ก็คิดว่าสนุกดี เพราะเป็นเรื่องราวของการนำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ เต็มไปด้วยเรื่องที่น่าตื่นเต้น จนพอมาถึงครึ่งหลัง ผมก็เริ่มรู้สึกสนุกน้อยลงเยอะ เพราะเป็นการบันทึกกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ที่ผมรู้สึกเช่นนี้ เพราะผมอ่านพระธรรมอพยพไม่เป็น ผมศึกษาเพียงตื้นๆ ผมเห็นพระธรรมเล่มนี้เป็นเพียงเรื่องราว และกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เท่านั้นเอง จึงทำให้เมื่อถึงครึ่งหลัง ผมอาจจะซาบซึ้งมากจนหลับเลยทีเดียว

แต่หากพี่น้องอยากได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระธรรมเล่มนี้จริงๆ พี่น้องจำเป็นต้องเจาะลึก หาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในพระคำของพระเจ้า หากทำเช่นนั้น เราจะพบว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เชื่อในพันธสัญญาใหม่เลยแม้แต่นิดเดียว กลับเต็มไปด้วยความหมายที่เล็งไปถึงประสบการณ์ชีวิตของเรากับพระคริสต์ และมีสิ่งที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตติดตามพระคริสต์ได้อย่างดีเยี่ยมมากมายทีเดียว

ผมรู้สึกขอบคุณพันธกิจของ Watchman Nee และ Witness Lee ที่ได้ให้แนวคิดต่างๆ กับผม ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เห็นด้วยกับศาสนศาสตร์ของท่านทั้งสองทุกเรื่อง (ซึ่งอาจเป็นเพราะผมมีความรู้ไม่มากพอ หรือผมอาจจะเข้าใจผิดไปเอง) แต่การตีความพระคัมภีร์ที่ท่านทั้งสองได้ถ่ายทอดมา มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ทำให้ผมสนุกและได้รับการหนุนใจจากการอ่านพระคำของพระเจ้ามากเลยครับ

ธรรมบัญญัติที่พระเจ้าให้นั้นมีค่ามาก เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์แบบที่สุด และเป็นศีลธรรมสูงสุด และดังเช่นที่ผมได้เล่าให้ฟังในบทก่อนหน้านี้ เป้าหมายของธรรมบัญญัติไม่ใช่เพื่อให้เราพยายามรักษาด้วยตัวเองอย่างครบถ้วน แต่หัวใจของธรรมบัญญัติคือเพื่อสำแดงให้เห็นบุคลิกลักษณะของพระเจ้า เพื่อสำแดงให้เราเห็นว่าเราบกพร่องและตกจากมาตรฐานของพระเจ้า และนำเราให้พึ่งพาพระคุณของพระองค์ในองค์พระเยซูคริสต์ ซึ่งพระคุณนี่เองจะช่วยให้เราสามารถทำตามธรรมบัญญัติได้อย่างครบถ้วนโดยอัตโนมัติ

โมเสสได้บันทึกบัญญัติสิบประการไว้ในอพยพบทที่ 20 ซึ่งเป็นธรรมบัญญัติที่ล้ำค่ามาก ต่อจากนั้นท่านได้บันทึกกฎข้อบังคับต่างๆ ที่พระเจ้าได้ให้ไว้ ในบทที่ 21-23 ซึ่งเหมือนเป็นส่วนขยายของบัญญัติสิบประการ

เมื่อเราดูภาพรวม เราจะเห็นได้ว่าช่วงแรกของกฎข้อบังคับ เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติในครอบครัวและสังคม เน้นเน้นเพื่อรักษามนุษย์ไว้ เพราะว่านี่คือวัตถุประสงค์ของพระองค์ที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา พระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อพระองค์เอง และพระองค์ต้องการให้พวกเขาเป็นตัวแทนของพระองค์ สำแดงพระองค์ให้คนบนโลกนี้ได้เห็นบุคลิกลักษณะของพระองค์ เช่น ความบริสุทธิ์ ความชอบธรรม ความรักแท้ ความเมตตากรุณา ฯลฯ พระองค์ต้องการให้ลูกของพระองค์เป็นเหมือนพระองค์

ที่น่าตื่นเต้นคือ กฎข้อบังคับในอพยพ 21-23 จบลงที่การฉลองเทศกาล 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นบทสรุปของการดำเนินชีวิตในพระองค์ นั่นคือ เพื่อที่เราจะเพลิดเพลิดเพลินกับองค์ตรีเอกานุภาพชั่วนิรันดร์ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่เราจะพบได้เมื่อเราอยู่ในพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า อพยพ 21-23 แสดงภาพของเป้าหมายของมนุษย์ นั่นคือ เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า และเพลิดเพลินกับพระองค์ตลอดกาล (Westminster Catechism)

เทศกาลทั้งสามมีอะไรบ้าง? แสดงให้เราเห็นภาพของการเฉลิมฉลองพระเจ้าองค์ตรีเอกานุภาพได้อย่างไร? และเราจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตคริสเตียนได้อย่างไร? โปรดติดตามอ่านต่อไปนะครับ

1. เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ

จง​ถือ​เทศ​กาล​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เจ้า​จง​กิน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ​เจ็ด​วัน​ตาม​ที่​เรา​สั่ง​เจ้า​ไว้​แล้ว ตาม​เวลา​ที่​กำ​หนด​ไว้​ใน​เดือน​อาบีบ เพราะ​ใน​เดือน​นั้น​เจ้า​ออก​จาก​อียิปต์ ห้าม​ผู้ใด​มา​เข้า​เฝ้า​เรา​มือ​เปล่า
(อพยพ 23:15)

ในอพยพบทที่ 12 มีการบัญญัติพิธีปัสกาขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าพิธีนี้เป็นภาพของการสละชีวิตของพระคริสต์ เพื่อตายไถ่บาปแทนเรา และเป็นภาพของโลหิตของพระคริสต์ ที่ปกคลุมบาปของเราไว้ ทำให้เราหลุดพ้นจากอำนาจของซาตาน โลก และความบาป ทำให้เราสามารถกลับมาคืนดีกับพระเจ้าได้อีกครั้งหนึ่ง สรรเสริญพระเยซู ผู้เป็น "ปัสกา" ที่สมบูรณ์แบบของเรา

และหลังจากพิธีปัสกาแล้ว ก็มีเทศกาลหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาติดๆ ที่ชาวอิสราเอลจะต้องฉลองเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ นั่นคือ "เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ"

และอีกครั้งหนึ่ง ขนมปังไร้เชื้อเป็นภาพที่เล็งถึงพระคริสต์ผู้เป็น "ขนมปังไร้เชื้อ" ของเรา พระองค์เป็นอาหารแห่งชีวิตของเรา และเป็นผู้ที่ไร้บาปอย่างสิ้นเชิง

7 จง​ชำระ​เชื้อ​เก่า​เสีย เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​เป็น​แป้ง​ดิบ​ก้อน​ใหม่ เหมือน​ขนม​ปัง​ไร้​เชื้อ เพราะ​พระ​คริสต์​ผู้​ทรง​เป็นปัสกา​ของ​เราได้​ถูก​ฆ่า​บูชา​เสีย​แล้ว​
8 เหตุ​ฉะนั้น​ให้​เรา​ถือปัสกา​นั้น มิใช่​ด้วย​เชื้อ​เก่า ซึ่ง​เป็น​เชื้อ​ของ​ความ​ชั่ว​ช้า​เลว​ทราม แต่​ด้วย​ขนม​ปัง​ที่​ไม่​มี​เชื้อ คือ​ความ​จริงใจ​และ​สัจจะ
(1 โครินธ์ 5:7-8)

ดังนั้น เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ จึงเป็นภาพของการเฉลิมฉลองพระคริสต์ ผู้เป็นขนมปังไร้เชื้อของเรา

ช่างดีเหลือเกิน ที่ชีวิตคริสเตียน เป็นเรื่องของการเฉลิมฉลองพระคริสต์ เป็นเรื่องของการเพลิดเพลินกับการกินและดื่มพระคริสต์ ผู้เป็นอาหารแห่งชีวิต และน้ำแห่งชีวิตที่ธำรงเลี้ยงชีวิตพวกเราอยู่เสมอ

และนี่ก็คือเคล็ดลับของการดำรงชีวิตที่บริสุทธิ์ แน่นอน มนุษย์ยังมีความอ่อนแอ คงจะไม่มีใครที่สามารถดำรงชีวิตที่ไร้บาปอย่างสิ้นเชิง แต่แม้ว่าเราจะดำรงชีวิตที่ไร้บาปไม่ได้ 100% เราสามารดำรงชีวิตที่ทำบาปน้อยลงได้ทุกวันๆ และวิธีเดียวที่เราจะทำได้ ก็คือการเฉลิมฉลองพระคริสต์ ด้วยการกินและดื่มพระองค์ผู้เป็นขนมปังไร้เชื้อของเรา แล้วชีวิตของเราก็จะได้รับการเติมด้วยชีวิตของพระองค์ ซึ่งเป็นชีวิตที่ไร้บาปอย่างสมบูรณ์แบบ

นี่คือวงจรที่เราจะพบได้ ก็คือ ยิ่งเราเพลิดเพลินกับพระองค์ เราก็จะยิ่งบาปน้อยลง และยิ่งเราบาปน้อยลง เราก็จะยิ่งเพลิดเพลินกับพระองค์ได้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากพี่น้องมีบาปใดที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สำแดงให้เห็นในชีวิตแล้ว อย่าปล่อยทิ้งไว้นะครับ เพราะบาปนั้นจะเป็นเหมือนเชื้อขนมปังที่เล็กนิดเดียว แต่ทำให้ขนมปังทั้งก้อนฟูได้ เชื้อแห่งบาปนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ของพี่น้องกับพระคริสต์มีปัญหา แม้ว่าความบาปนั้นจะไม่ได้ส่งผลต่อการสูญเสียความรอด (เพราะบาปในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพี่น้องได้รับการชำระหมดแล้วโดยพระโลหิตอันล้ำค่าของพระองค์) แต่ความบาปนั้นจะส่งผลให้ชีวิตของพี่น้องขาดความชื่นชมยินดี และเต็มไปด้วยอารมณ์เซ็ง อารมณ์เครียด อารมณ์เบื่อ

แต่นี่คือพระสัญญาของพระเจ้า คือเมื่อใดที่พี่น้องนำบาปนั้นมาสารภาพกับพระองค์ ความบาปนั้นจะได้รับการจัดการและหมดพิษสงในชีวิตของพี่น้อง

ถ้า​เรา​สารภาพ​บาป​ของ​เรา ​พระ​องค์​ทรง​สัตย์​ซื่อ​และ​เที่ยง​ธรรม ​ก็​จะ​ทรง​โปรด​ยก​บาป​ของ​เรา และ​จะ​ทรง​ชำระ​เรา​ให้​พ้น​จาก​การ​อธรรม​ทั้งสิ้น
(1 ยอห์น 1:9)

เมื่อพี่น้องจัดการกับบาปนั้นแล้ว พี่น้องก็สามารถกลับมาเพลิดเพลินกับพระคริสต์ได้อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นความสุขที่ดีเยี่ยม และเต็มไปด้วยพรจริงๆ ครับ

2. ​เทศกาล​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​แรก​

และ​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​แรก​ที่​เกิด​จาก​แรง​งาน​ของ​เจ้า ซึ่ง​เจ้า​ได้​หว่าน​พืช​ลง​ใน​นา
(อพยพ 23:16ก)

เทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแรก เป็นเทศกาลเดียวกับ "เทศกาลสัปดาห์" (อพยพ 23:22) และ "เทศกาลเพ็น​เท​คอสต์" ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากวันเริ่มต้นของเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ 50 วัน (เพ็นเทคอสต์ แปลว่า ที่ห้าสิบ)

เมื่อเราพูดถึงคำว่า "ผลแรก" ในพันธสัญญาใหม่ ก็จะมีความหมายเล็งถึง "พระคริสต์ผู้เป็นขึ้นมาจากความตาย"

แต่​บัด​นี้ พระ​คริสต์​ทรง​ถูก​ทำ​ให้​เป็น​ขึ้น​มา​จาก​ความ​ตาย​แล้ว และ​ทรง​เป็น​ผล​แรก​ของ​พวก​ที่​ล่วง​หลับ​ไป
(1 โครินธ์ 15:20)

และนอกจากนี้ พระธรรมโรมยังได้บอกว่า เราผู้เชื่อได้รับ "พระวิญญาณเป็นผลแรก"

และ​ไม่​ใช่​เท่า​นั้น แต่​เรา​เอง​ด้วย ผู้​ได้​รับ​พระ​วิญ​ญาณ​เป็น​ผล​แรก ตัว​เรา​เอง​ก็​ยัง​คร่ำ​ครวญ​คอย​การ​ที่​พระ​เจ้า​จะ​ทรง​ให้​มี​ฐานะ​เป็น​บุตร คือ​ที่​จะ​ทรง​ไถ่​กาย​ของ​เรา
(โรม 8:23)

จากพระคำสองตอนนี้ จึงสรุปได้ว่า "ผลแรก" ในที่นี้ก็คือพระคริสต์ผู้เป็นขึ้นจากความตายและพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการฉลองเทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแรก ก็เป็นการเฉลิมฉลองพระคริสต์ผู้ที่เป็นขึ้นจากความตายและเป็นวิญญาณที่ให้ชีวิตแก่เรา (1 โครินธ์ 15:45) และเป็นการเฉลิมฉลองพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ซึ่งพระคริสต์ได้ให้แก่เรา

สำหรับผู้ที่มีความคุ้นเคยกับพันธสัญญาใหม่ ก็จะรู้ทันทีว่า วันเพ็นเทคอสต์ คือวันที่เหล่าสาวกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการ 2)

ดังนั้น เทศกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแรก จึงเป็นภาพของการเฉลิมฉลองพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้เป็นผลแรกของเรา
สรรเสริญพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์ดำรงชีวิตอยู่ในเราเสมอ เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เรามีพระเจ้าอยู่กับเรา และอยู่ในเรา ผลที่เกิดขึ้นจากการเพลิดเพลินกับพระวิญญาณก็คือ ชีวิตเราจะได้รับการเปลี่ยนแปลง พระองค์จะนำเราให้ติดสนิทกับเถาองุ่น นั่นคือพระเยซู แล้วเราก็จะเกิดผล

อัครทูตเปาโลบอกว่า เราเป็นไร่นาของพระเจ้า

เพราะ​ว่า​เรา​ทั้ง​หลาย​ร่วมกัน​ทำงาน​เพื่อ​พระ​เจ้า ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​ไร่​นา​ของ​พระ​เจ้า และ​เป็น​ตึก​ของ​พระ​องค์
(1 โครินธ์ 3:9)

เมื่อเราเป็นไร่นาที่อยู่ในพระคริสต์ เราได้รับสารอาหารจากพระองค์ และผลที่เกิดขึ้น อันได้แก่ผลของพระวิญญาณที่ปรากฏในกาลาเทีย 5:22-23 ก็คือบุคลิกลักษณะของพระคริสต์นั่นเอง

ดังนั้น ชีวิตเราจะแสดงผลออกมาเป็นพระคริสต์ คนรอบข้างก็จะได้เห็น สัมผัส และได้รับการบำรุงเลี้ยงชีวิต ผ่านทางชีวิตของเรา

3. เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี

เจ้า​จง​ถือ​เทศ​กาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี เมื่อ​เจ้า​เก็บ​พืช​ผล​จาก​ทุ่ง​นา​อัน​เป็น​ผล​งาน​ของ​เจ้า
(อพยพ 23:26ข)

เทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บพืชผลปลายปี มีอีกชื่อหนึ่งคือ "เทศกาลอยู่เพิง"

เนื่องจากเป็นการเก็บพืชผลครั้งสุดท้ายของปี จึงเป็นภาพที่เล็งถึงความเพลิดเพลินของเราในความบริบูรณ์ของพระเจ้าพระบิดาในพระคริสต์ (โคโลสี 2:9) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เราจะได้รับอย่างเต็มที่ในยุคพันปี เมื่อพระคริสต์จะมาปกครองในโลกนี้เป็นเวลาพันปี

ที่สำคัญ ความเพลิดเพลินของเรายังไม่ได้จบลงแค่ยุคพันปี เพราะเมื่อโลกนี้ถูกชำระด้วยไฟแล้ว จะเกิดฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีศูนย์กลางคือนครเยรูซาเล็มใหม่ ที่ซึ่งเราจะได้เพลิดเพลินกับพระเจ้าชั่วนิรันดร์

2 และ​ข้าพ​เจ้า​ได้​เห็น​นคร​บริ​สุทธิ์ คือ​นคร​เย​รู​ซา​เล็ม​ใหม่​ลอย​ลง​มา​จาก​สวรรค์​และ​จาก​พระ​เจ้า นคร​นี้​เตรียม​พร้อม​เหมือน​อย่าง​เจ้า​สาว​ที่​แต่ง​ตัว​ไว้​สำ​หรับ​สามี
3 ข้าพ​เจ้า​ได้​ยิน​เสียง​ดัง​จาก​พระ​ที่​นั่ง​ว่า “นี่​แน่ะ ที่​ประ​ทับ​ของ​พระ​เจ้า​อยู่​กับ​มนุษย์​แล้ว และ​พระ​องค์​จะ​ประ​ทับ​กับ​เขา​ทั้ง​หลาย พวก​เขา​จะ​เป็น​ชน​ชาติ​ของ​พระ​องค์ พระ​เจ้า​เอง​จะ​สถิต​กับ​เขา และ​จะ​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า​ของ​เขา
(วิวรณ์ 21:2-3)
(คำว่า "ที่ประทับ" ในข้อ 3 แปลตามตัวอักษร เป็นคำเดียวกับคำว่า "เพิง")

ดังนั้นเทศกาล​เลี้ยง​ฉลอง​การ​เก็บ​พืช​ผล​ปลาย​ปี จึงเป็นภาพของการเฉลิมฉลองพระเจ้าพระบิดา โดยเฉพาะในช่วงยุคพันปี และในฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกใหม่ชั่วนิรันดร์

เมื่อย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์เดิม พระเจ้าตั้งเทศกาลนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนอิสราเอลนึกถึงเหตุการณ์เมื่อพระองค์นำบรรพบุรุษของเขาออกจากอียิปต์ พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในเพิง ซึ่งเป็นที่พักอาศัยเพียงชั่วคราว พระเจ้าเตรียมที่ที่ดีกว่านั้นไว้ให้แก่พวกเขาแล้ว นั่นคือแผ่นดินดีที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้แก่พวกเขา

42 จง​อยู่​ใน​เพิง​เจ็ด​วัน ทุก​คน​ที่​เป็น​ชาว​พื้น​เมือง​อิส​รา​เอล​ให้​เข้า​อยู่​ใน​เพิง
43 เพื่อ​ชาติ​พันธุ์​ของ​เจ้า​จะ​ได้​รับ​รู้​ว่า เมื่อ​เรา​พา​คน​อิส​รา​เอล​ออก​จาก​แผ่น​ดิน​อียิปต์​นั้น เรา​ได้​ให้​เขา​อยู่​ใน​เพิง เรา​คือ​ยาห์​เวห์ พระ​เจ้า​ของ​เจ้า
(เลวีนิติ 23:42-43)

เมื่อเราคิดถึงเทศกาลนี้ ขอให้เราระลึกว่า โลกนี้ไม่ใช่บ้านอันถาวรของเรา

ขณะที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร ผมมีความสุขมาก ชีวิตสุขสบาย แต่จะให้ผมซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือตั้งหลักปักฐานที่นี่เลยหรือ? ผมคงจะไม่ทำ เพราะมีเงินไม่พอ (ล้อเล่นครับ) ที่ผมไม่ทำเช่นนั้นเพราะผมรู้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านของผม และเมื่อผมเรียนจบ (ขอพระเจ้าเมตตาที่ผมจะจบครับ) ผมก็จะกลับประเทศไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผม ที่ซึ่งคนที่ผมรักอาศัยอยู่

เช่นเดียวกันครับ ในโลกนี้เราอาจมีความสะดวกสบายมากมาย แต่ที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา พระเจ้าได้เตรียมที่ที่ดีกว่าโลกนี้อย่างเทียบไม่ได้ไว้ให้กับเราแล้วในฟ้าสวรรค์ใหม่และโลกใหม่ ที่นั่นจะเป็นบ้านของเรา และจะเป็นที่ซึ่งเราจะได้อยู่กับผู้ที่เรารักและรักเราตลอดไป

14 เพราะ​ว่า​เรา​ไม่​มี​นคร​ที่​ถาวร​อยู่​ที่นี่ แต่​เรา​แสวง​หา​นคร​ที่​จะ​มา​ใน​ภาย​หน้า
15 เพราะ​ฉะนั้น ให้​เรา​ถวาย​คำ​สรร​เสริญ​เป็น​เครื่อง​บูชา​แด่​พระ​เจ้า​ตลอด​ไป​โดย​ทาง​พระ​องค์​นั้น คือ​ถวาย​ผล​จาก​ปาก​ที่​ยอม​รับ​เชื่อ​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์
16 อย่า​ละ​เลย​ที่​จะ​ทำ​ความ​ดี และ​แบ่ง​ปัน​ข้าว​ของ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน เพราะ​เครื่อง​บูชา​อย่าง​นั้น​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระ​เจ้า
(ฮีบรู 13:14-16)

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์
โครงร่างเนื้อหา ประยุกต์จากหนังสือของ Living Stream Ministry
  • The holy word for morning revival: crystallization-study of Exodus, week 21: Keeping feasts unto God three times a year typifying the full enjoyment of the Triune God in Christ.
  • Life study of Jeremiah, message 69-72.

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น
 

No comments:

Post a Comment