Saturday, 10 October 2015

อพยพ บทเรียน 18: "การประกาศใช้ธรรมบัญญัติ" (อพยพ 24:1-8)

ตกผลึกความจริงจากพระธรรมอพยพ บทเรียน 18:

"การประกาศใช้ธรรมบัญญัติ"
(อพยพ 24:1-8)

ศึกษาเป้าหมายของพระเจ้าในการให้ธรรมบัญญัติแก่เรา โดยพิจารณาจากส่วนประกอบของพิธี​รับ​พันธสัญญา ในอพยพบทที่ 24

1 พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​กับ​โมเสส​ว่า "เจ้า​กับ​อา​โรน นา​ดับ​กับ​อา​บีฮู และ​พวก​ผู้​ใหญ่​ของ​อิส​รา​เอล 70 คน จง​ขึ้น​มา​เข้า​เฝ้า​พระ​ยาห์​เวห์ แล้ว​นมัส​การ​อยู่​แต่​ไกล
2 ให้​เฉพาะ​โมเสส​ผู้​เดียว​เข้า​มา​ใกล้​พระ​ยาห์​เวห์ ส่วน​คน​อื่นๆ อย่า​ให้​เข้า​มา​ใกล้​และ​อย่า​ให้​ประชา​ชน​ขึ้น​มา​กับ​โมเสส​เลย"
3 โมเสส​จึง​นำ​พระ​วจนะ​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​และ​กฎ​หมาย​ทั้ง​สิ้น​มา​ชี้​แจง​ให้​ประชา​ชน​ทราบ ประชา​ชน​ทั้ง​หมด​ก็​ตอบ​เป็น​เสียง​เดียว​กัน​ว่า "พระ​วจนะ​ทั้ง​สิ้น​ซึ่ง​พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ไว้​นั้น เรา​จะ​ทำ​ตาม"
4 โมเสส​จึง​จารึก​พระ​วจนะ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​ไว้​ทุก​คำ แล้ว​ลุก​ขึ้น​แต่​เช้า สร้าง​แท่น​บูชา​ขึ้น​ที่​เชิง​ภูเขา และ​ตั้ง​เสา​หิน​ขึ้น​สิบ​สอง​ต้น​ตาม​จำ​นวน​สิบ​สอง​เผ่า​ของ​อิส​รา​เอล
5 ท่าน​ใช้​ให้​พวก​คน​หนุ่มๆ ของ​อิส​รา​เอล​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เผา​ทั้ง​ตัว​และ​ถวาย​โค​เป็น​เครื่อง​ศานติ​บูชา​แด่​พระ​ยาห์​เวห์
6 แล้ว​โมเสส​เอา​เลือด​โค​ครึ่ง​หนึ่ง​ใส่​ไว้​ใน​อ่าง อีก​ครึ่ง​หนึ่ง​ก็​ประ​พรม​ที่​แท่น​บูชา​นั้น
7 ท่าน​เอา​หนัง​สือ​พันธ​สัญญา​มา​อ่าน​ให้​ประชา​ชน​ฟัง พวก​เขา​กล่าว​ว่า "ทุก​คำ​ที่​พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​นั้น เรา​จะ​ทำ​ตาม และ​เรา​จะ​เชื่อ​ฟัง"
8 โมเสส​ก็​เอา​เลือด​ประ​พรม​ประชา​ชน​และ​กล่าว​ว่า "นี่​เป็น​โลหิต​แห่ง​พันธ​สัญญา ซึ่ง​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ทำ​กับ​พวก​ท่าน​ตาม​พระ​วจนะ​ทั้ง​สิ้น​เหล่า​นี้"
(อพยพ 24:1-8)

หลายคนอ่านพระธรรมอพยพแล้ว คงจะรู้สึกตื่นเต้นในตอนแรก เพราะเป็นเรื่องราวของการช่วยกู้ของพระเจ้าสำหรับชาวอิสราเอลจากอียิปต์ แต่พอถึงกลางๆ เล่ม ก็เริ่มรู้สึกเบื่อเพราะเต็มไปด้วยกฎข้อบังคับต่างๆ และรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราเท่าไหร่ ผมก็เป็นเช่นนั้นครับ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระเจ้า ที่ให้โมเสสบันทึกพระธรรมอพยพขึ้นมา และไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติต่างๆ ที่พระเจ้าให้โมเสสบันทึกเอาไว้

 

ภาพรวมของพระธรรมอพยพ

พระธรรมอพยพเป็นเหมือนหนังสือภาพ แสดงให้เราได้เห็นถึงประสบการณ์ชีวิตของผู้เชื่อหลังจากได้รับความหลุดพ้น (หรือความรอด) ผ่านทางการเชื่อวางใจในพระเยซูแล้ว ความหลุดพ้นไม่ได้จบอยู่แค่เมื่อเราเชื่อแล้วเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ที่ดำเนินต่อไปทุกๆ วันตลอดทั้งชีวิต

ภาพของพระธรรมอพยพ เริ่มต้นที่การไถ่ของพระเจ้า และจบลงที่พลับพลาของพระเจ้า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้า พระธรรมอพยพสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้เชื่อทุกคน โดยเริ่มต้นที่การไถ่ของพระเจ้าจากอำนาจของซาตาน (ฟาโรต์) และโลกที่ปกครองโดยซาตาน (อียิปต์) ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราด้วยการที่พระเจ้าประหารตัวเก่าของเราและให้ชีวิตใหม่แก่เรา (การข้ามทะเลแดง ซึ่งเป็นภาพของประสบการณ์ของบัพติศมา) หลังจากนั้นพระองค์นำเราไปสู่สามัคคีธรรมกับพระองค์ (ถิ่นทุรกันดาร) และช่วยให้เราสู้รบกับเนื้อหนังของเรา (อามาเลค) แล้วในที่สุด ชีวิตของเราก็จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้า ซึ่งเป็นที่ที่เราจะอาศัยอยู่กับพระองค์ และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ตลอดไป (พลับพลา)

 

วัตถุประสงค์ของธรรมบัญญัติ

ก่อนที่จะมาถึงกฎข้อบังคับเกี่ยวกับพลับพลา พระเจ้าได้ให้บทบัญญัติแก่โมเสส ที่สำคัญที่สุดก็คงจะเป็นบัญญัติสิบประการ (อพยพ 20)

ทำไมพระเจ้าถึงให้บทบัญญัติแก่ประชากรของพระองค์? พระองค์ต้องการชี้แจงว่าประชากรของพระองค์ต้องทำอะไร และห้ามทำอะไรเท่านั้นหรือ? เราในฐานะผู้เชื่อต้องศึกษาทุกตัวอักษร เพื่อจะได้ทำตามบทบัญญัติทุกอย่างให้ครบถ้วนอย่างนั้นหรือ?

แน่นอน พระบัญญัติของพระเจ้านั้นดีเยี่ยมยอด และการเชือฟังก็นำมาซึ่งพระพร แต่วัตถุประสงค์หลักของธรรมบัญญัติ ไม่ใช่เพื่อให้เราพยายามปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนด้วยตัวเอง เพราะเราคงทำไม่ได้แน่นอน และพระเจ้าก็คงไม่ใจร้ายที่จะให้เราทำสิ่งที่เราทำไม่ได้

วัตถุประสงค์ของธรรมบัญญัติต่างๆ ก็คือ

1.     เพื่อให้เราได้รู้จักพระเจ้ามากขึ้น ธรรมบัญญัติแสดงให้เราเห็นถึงบุคลิกลักษณะของพระเจ้าผู้เขียนธรรมบัญญัติขึ้นมา เมื่อเราอ่าน เราก็จะได้รู้จักพระเจ้ามากขึ้น และได้เห็นว่าพระองค์มีลักษณะอย่างไร เช่น พระเจ้าของเราบริสุทธิ์ ชอบธรรม เปี่ยมด้วยความรัก หวงแหน สัตย์ซื่อ ฯลฯ ที่น่าสนใจคือพระเจ้าเรียกแผ่นหินที่บันทึกบัญญัติสิบประการว่าเป็น "tablets/tables of the testimony" (อพยพ 31:18) ซึ่งก็คือ พระศิลาแห่ง "การสำแดง" หรือ "คำพยาน" ดังนั้นพระบัญญัติจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เรารู้จักพระเจ้ามากขึ้น

2.     เพื่อให้เราเห็นถึงความบกพร่องของเราเอง และหันมาพึ่งพาพระเยซู ธรรมบัญญัติเปิดโปงความชั่วร้ายของจิตใจของเรา ทำให้เรารู้ตัวว่าบกพร่องในทุกๆ ด้าน และในที่สุด ธรรมบัญญัติก็จะนำเราให้พึ่งพาพระคุณความรักของพระเยซู

"เพราะ​ฉะนั้น​ธรรม​บัญ​ญัติ​จึง​เป็น​ผู้​ควบ​คุม​ (หรือครู) ของ​เรา จน​พระ​คริสต์​เสด็จ​มา เพื่อ​เรา​จะ​ถูก​ชำระ​ให้​ชอบ​ธรรม​โดย​ความ​เชื่อ" (กาลาเทีย 3:24)

นอกจากนี้ ถ้าเราจะพยายามทำตามธรรมบัญญัติทั้งสิ้น แต่พลาดหัวใจของธรรมบัญญัติไป ก็คงจะเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรง พระเยซูได้บอกหัวใจของธรรมบัญญัติไว้ คือ

29 พระ​เยซู​จึง​ตรัส​ตอบ​คน​นั้น​ว่า "พระ​บัญ​ญัติ​อัน​ดับ​แรก​คือ โอ ชน​อิส​รา​เอล จง​ฟัง​เถิด องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ​ของ​เรา​เป็น​พระ​เจ้า​องค์​เดียว
30 พวก​ท่าน​จง​รัก​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​เป็น​พระ​เจ้า​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​ท่าน ด้วย​สุด​จิต​ของ​ท่าน ด้วย​สุด​ความ​คิด​ของ​ท่านและ​ด้วย​สุด​กำ​ลัง​ของ​ท่าน
31 ส่วน​พระ​บัญ​ญัติ​ที่​สำคัญ​อัน​ดับ​สอง​คือ จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตนเอง ไม่​มี​พระ​บัญ​ญัติ​อื่น​ใด​ที่​สำ​คัญ​ยิ่ง​กว่า​พระ​บัญ​ญัติ​เหล่า​นี้"
(มาระโก 12:29-31)

 

การประกาศใช้ธรรมบัญญัติ

4 โมเสส​จึง​จารึก​พระ​วจนะ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​ไว้​ทุก​คำ แล้ว​ลุก​ขึ้น​แต่​เช้า สร้าง​แท่น​บูชา​ขึ้น​ที่​เชิง​ภูเขา และ​ตั้ง​เสา​หิน​ขึ้น​สิบ​สอง​ต้น​ตาม​จำ​นวน​สิบ​สอง​เผ่า​ของ​อิส​รา​เอล
5 ท่าน​ใช้​ให้​พวก​คน​หนุ่มๆ ของ​อิส​รา​เอล​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เผา​ทั้ง​ตัว​และ​ถวาย​โค​เป็น​เครื่อง​ศานติ​บูชา​แด่​พระ​ยาห์​เวห์
6 แล้ว​โมเสส​เอา​เลือด​โค​ครึ่ง​หนึ่ง​ใส่​ไว้​ใน​อ่าง อีก​ครึ่ง​หนึ่ง​ก็​ประ​พรม​ที่​แท่น​บูชา​นั้น
7 ท่าน​เอา​หนัง​สือ​พันธ​สัญญา​มา​อ่าน​ให้​ประชา​ชน​ฟัง พวก​เขา​กล่าว​ว่า "ทุก​คำ​ที่​พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​นั้น เรา​จะ​ทำ​ตาม และ​เรา​จะ​เชื่อ​ฟัง"
8 โมเสส​ก็​เอา​เลือด​ประ​พรม​ประชา​ชน​และ​กล่าว​ว่า "นี่​เป็น​โลหิต​แห่ง​พันธ​สัญญา ซึ่ง​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ทำ​กับ​พวก​ท่าน​ตาม​พระ​วจนะ​ทั้ง​สิ้น​เหล่า​นี้"
(อพยพ 24:4-8)

ในอพยพ 24 พระเจ้ากำหนดพิธีหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ "พิธีรับพันธสัญญา" ซึ่งเป็นเหมือนการประกาศใช้ธรรมบัญญัติอย่างเป็นทางการ พระเจ้าสั่งให้อาโรน นาดับ อาบีฮู และผู้ใหญ่ 70 คนไปเข้าเฝ้าพระองค์และนมัสการพระองค์ด้วย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพิธีนี้

ที่น่าสังเกต คือ หลังจากผ่านการประกาศใช้แล้ว พระคัมภีร์เรียกหนังสือที่บันทึกพระคำของพระเจ้า ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมบัญญัติว่า "หนัง​สือ​พันธ​สัญญา" พระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าแห่งพันธสัญญา พระคำของพระองค์เป็นพันธสัญญาระหว่างพระองค์กับเรา และเราก็เชื่อวางใจในพระสัญญาต่างๆ ได้ เพราะเรารู้ว่าพระเจ้าที่เราทำสัญญาด้วยนั้นสัตย์ซื่อ

ในพิธีนี้ มีองค์ประกอบสำคัญที่เราควรเห็นและเข้าใจ ได้แก่ แท่นบูชา (พร้อมด้วยเครื่องบูชา และโลหิต) และเสาหิน

แท่นบูชา เครื่องบูชา และโลหิต

เมื่อมีการประกาศใช้ธรรมบัญญัติ แท่นบูชา เครื่องบูชา และโลหิตเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบพิธี และทั้งสามสิ่งนี้ชี้ให้เราเห็นถึงหัวใจของธรรมบัญญัติ นั่นคือการตายบนไม้กางเขนของพระเยซู เพื่อที่นำความหลุดพ้นมาสู่มนุษย์โลกทุกคนที่เชื่อวางใจในพระองค์

แท่นบูชาเป็นสัญลักษณ์ของกางเขน เครื่องบูชาเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ และโลหิตเป็นสัญลักษณ์ของพระโลหิตอันล้ำค่าของพระเยซูที่หลั่งออกเพื่อชำระล้างเราให้ขาวสะอาด

พระธรรมฮีบรูได้กล่าวยืนยันชัดเจน

10 เรา​มี​แท่น​บูชา​แท่น​หนึ่ง และ​คน​ที่​ปรน​นิบัติ​ใน​พลับ​พลา​นั้น​ไม่​มี​สิทธิ์​รับ​ประ​ทาน​ของ​จาก​แท่น​นั้น
11 เพราะ​ร่าง​ของ​สัตว์​เหล่า​นั้น​ที่​มหา​ปุโร​หิต​ได้​เอา​เลือด​เข้า​ไป​ใน​สถาน​ศักดิ์​สิทธิ์ เพื่อ​เป็น​เครื่อง​บูชา​ลบ​บาป​นั้น เขา​เอา​ไป​เผา​เสีย​นอก​ค่าย
12 เพราะ​ฉะนั้น พระ​เยซู​จึง​ได้​ทรง​ทนทุกข์​ภาย​นอก​ประตู​นคร​เช่น​เดียว​กัน เพื่อ​ทรง​ชำระ​ประ​ชา​ชน​ให้​บริ​สุทธิ์​ด้วย​พระ​โลหิต​ของ​พระ​องค์​เอง
(ฮีบรู 13:10-12)

ดังนั้น ทุกครั้งที่เราอ่านธรรมบัญญัติ ขอให้เรามองดูที่แท่นบูชานั้นและนึกถึงแท่นบูชาที่ใช้ในการถวายพระเยซูผู้เป็นเครื่องบูชาอันสมบูรณ์แบบ นั่นคือ ไม้กางเขนของพระคริสต์

เมื่อเราได้นึกถึงกางเขนแล้ว ก็ขอให้เรามองเห็นพระเยซูผู้ซึ่งมอบหมดทั้งชีวิตของพระองค์เองเพื่อเรา ที่กางเขนนั้นเราได้รับการไถ่ ที่กางเขนนั้นเราถูกตรึงตายร่วมกับพระองค์ และที่กางเขนนั้นเราได้รับชีวิตใหม่ร่วมกับพระองค์ นี่คือหัวใจของธรรมบัญญัติ และพันธสัญญาที่พระเจ้าได้ทำไว้กับเรา

เสาหิน

หลังจากสร้างแท่นบูชาแล้ว โมเสสก็สร้างเสาหินขึ้นมาสิบสองต้น ตามจำนวนเผ่าของอิสราเอล

ความหมายของเสาหินคืออะไร? ในสมัยซาโลมอน ได้มีการสร้างเสาขึ้นมาเช่นกัน

ท่าน​ตั้ง​เสา​ไว้​ที่​เฉลียง​พระ​วิหาร ท่าน​ตั้ง​เสา​ข้าง​ขวา​ไว้ และ​เรียก​ชื่อ​ว่า​ยา​คีน และ​ท่าน​ตั้ง​เสา​ข้าง​ซ้าย​ไว้ เรียก​ชื่อ​ว่า​โบ​อัส
(1 พงศ์กษัตริย์ 7:21)

ยาคีน แปลว่า "พระองค์สถาปนาให้มั่นคง" และโบอัส แปลว่า "พระกำลังในพระองค์" เสาทั้งสองต้นเป็นพยานยืนยันถึงพระลักษณะของพระเจ้า

เสาหินในพิธีรับพันธสัญญาก็เช่นเดียวกัน มันเป็นพยานที่สำแดงพระเจ้าแก่ผู้ที่พบเห็น ดังนั้นความหมายของเสาหินสำหรับเรา คือ หลักสำคัญของธรรมบัญญัติไม่ใช่การที่เราจะพยายามเคร่งครัดทำตามทุกประการด้วยกำลังของเราเอง แต่เป็นการที่เราจะตระหนักว่า หน้าที่ของเราคือเป็นเสาหินนั้น ที่สะท้อนให้ชาวโลกได้เห็นพระเจ้า และวิธีเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้ คือ การยอมให้พระเจ้านำเราผ่านกระบวนการไถ่ กระบวนการประหารชีวิตเก่า และกระบวนการสร้างชีวิตใหม่ของพระคริสต์ในชีวิตของเรา ดังนี้แหละ เมื่อโลกเห็นเรา เขาก็จะได้เห็นว่าพระเจ้าเป็นเช่นไร 

ขอให้เรากล่าวพร้อมกับเปาโลในกาลาเทีย 2:20 ว่า

ข้าพ​เจ้า​เอง​ไม่​มี​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป แต่​พระ​คริสต์​ต่าง​หาก​ที่​ทรง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ข้าพ​เจ้า ชีวิต​ซึ่ง​ข้าพ​เจ้า​ดำ​เนิน​อยู่​ใน​ร่าง​กาย​ขณะ​นี้ ข้าพ​เจ้า​ดำ​เนิน​อยู่​โดย​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า​ผู้​ได้​ทรง​รัก​ข้าพ​เจ้า และ​ได้​ทรง​สละ​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​ข้าพ​เจ้า
(กาลาเทีย 2:20)

 

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์

โครงร่างเนื้อหา ประยุกต์จากหนังสือของ Living Stream Ministry

  • The holy word for morning revival: crystallization-study of Exodus, week 18: Christ as the Slave of God and the believers as slaves of God and Christ Jesus in the church life.
  • Life study of Exodus, message 76-77.

 

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น

No comments:

Post a Comment