Sunday, 4 October 2015

อพยพ บทเรียน 17: "กฎข้อบังคับเกี่ยวกับทาส"


ตกผลึกความจริงจากพระธรรมอพยพ บทเรียน 17:

"กฎข้อบังคับเกี่ยวกับทาส"
(อพยพ 21:1-6)

ศึกษากฎข้อบังคับเกี่ยวกับทาส ซึ่งเล็งถึงพระคริสต์ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า และผู้เชื่อในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์ในชีวิตคริสตจักร

1 ต่อ​ไป​นี้​เป็น​กฎ​หมาย​ซึ่ง​เจ้า​ต้อง​ประ​กาศ​ให้​เขา​ทั้ง​หลาย​ทราบ​ไว้
2 ถ้า​เจ้า​ซื้อ​คน​ฮีบรู​ไว้​เป็น​ทาส เขา​จะ​ปรน​นิบัติ​เจ้า​หก​ปี แต่​ปี​ที่​เจ็ด​เขา​จะ​ได้​เป็น​อิสระ​โดย​ไม่​ต้อง​เสีย​ค่า​ไถ่
3 หาก​เขา​มา​คน​เดียว จง​ปล่อย​เขา​ไป​คน​เดียว หาก​เขา​มากับ​ภรรยา ต้อง​ปล่อย​ภรรยา​ของ​เขา​ไป​ด้วย
4 หาก​นาย​หา​ภรรยา​ให้​เขา และ​ภรรยา​นั้น​คลอด​บุตร​ชาย​หรือ​บุตร​หญิง​ให้​เขา ภรรยา​กับ​บุตร​เหล่า​นั้น​จะ​เป็น​คน​ของ​นาย เขา​จะ​เป็น​อิสระ​ได้​แต่​ตัว
5 ถ้า​ทาส​นั้น​มา​พูด​อย่าง​ชัด​เจน​ว่า "ข้า​รัก​นาย​และ​ลูก​เมีย​ของ​ข้า ข้า​ไม่​อยาก​เป็น​อิสระ"
6 ให้​นาย​พา​ทาส​นั้น​ไป​เข้า​เฝ้า​พระ​เจ้าพา​เขา​ไป​ที่​ประตู​หรือ​วง​กบ​ประตู แล้ว​ให้​นาย​เจาะ​หู​เขา​ด้วย​เหล็ก​หมาด เขา​ก็​จะ​อยู่​ปรน​นิบัติ​นาย​ตลอด​ไป
(อพยพ 21:1-6)
 
อพยพบทที่ 20 พระเจ้าได้ให้บัญญัติสิบประการแก่เรา และต่อด้วยกฎข้อบังคับเกี่ยวกับแท่นบูชา มาถึงบทนี้ บทที่ 21 กฎข้อบังคับแรกที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือ เรื่องทาส
ทำไมเรื่องทาสจึงสำคัญนัก? พระเจ้าสนับสนุนระบบทาสหรือ?
ไม่ มีตอนใดเลยในพระคัมภีร์ที่กล่าวประณามระบบทาส แต่เน้นย้ำถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องระหว่างเจ้านายและทาส และในพันธสัญญาใหม่ อัครทูตเปาโลเน้นความสำคัญของความเท่าเทียมกันของผู้เชื่อทุกคนในสังคม ที่ชัดเจนที่สุด คือ จดหมายฟีเลโมน
พระธรรมฟีเลโมน เป็นจดหมายที่เปาโลเขียนถึงฟีเลโมนเกี่ยวกับทาสของเขาที่ชื่อโอเนสิมัส ผู้ซึ่งหนีไปจากนายของเขา แล้วได้มาต้อนรับพระคริสต์หลังจากได้พบกับเปาโลในคุก ต่อมาเปาโลส่งโอเนสิมัสให้กลับไปหาฟีเลโมนนายของเขา พร้อมทั้งเขียนจดหมายกำชับกับฟีเลโมนให้ต้อนรับโอเนสิมัสในฐานะใหม่ในพระคริสต์ นั่นคือ ฐานะ "พี่น้องที่รัก"

เขา​ไม่​ได้​เป็น​ทาส​อีก​ต่อ​ไป แต่​ดี​ยิ่ง​กว่า​ทาส คือ​เป็น​พี่​น้อง​ที่​รัก โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​สำ​หรับ​ข้าพ​เจ้า และ​สำ​หรับ​ท่าน​เขา​เป็น​มาก​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก ทั้ง​ใน​ฐานะ​ที่​เขา​เป็น​อยู่​ใน​สัง​คม​และ​ใน​ฐานะ​ที่​เป็น​คน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
(ฟีเลโมน 16)

เหตุผล ที่เรื่องทาสสำคัญมาก จนกระทั่งกฎข้อบังคับเกี่ยวกับเรืองนี้ได้รับการบันทึกไว้เป็นอันดับต้นๆ เพราะทาสเป็นสิ่งที่เล็งถึงทาสหรือผู้รับใช้ของพระเจ้าที่สมบูรณ์แบบเพียง ผู้เดียวในประวัติศาสตร์มนุษย์ นั่นคือพระเยซูคริสต์นั่นเอง และเราในฐานะผู้เชื่อ จะต้องเป็นทาสของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์ตามแบบอย่างของพระองค์ ดังนั้นขอให้เรามาเรียนรู้ด้วยกันถึงแบบอย่างชีวิตของผู้รับใช้ที่สมบูร์แบบของเรา

พระคริสต์ คือ ผู้รับใช้ของพระเจ้า

คงจะไม่มีพระกิตติคุณเล่มใดเลยที่บรรยายภาพของพระเยซูในฐานะของผู้รับใช้ได้ชัดเจนเท่ากับพระธรรมมาระโก ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งกับพระเยซูในฐานะกษัตริย์ที่ปรากฎชัดในพระธรรมมัทธิว หัวใจของพระธรรมมาระโกก็คือข้อนี้

เพราะ​ว่า​บุตร​มนุษย์​ไม่​ได้​มา​เพื่อ​รับ​การ​ปรน​นิบัติ แต่​มา​เพื่อ​จะ​ปรน​นิบัติ​คน​อื่น และ​ให้​ชีวิต​ของ​ท่าน​เป็น​ค่า​ไถ่​คน​จำ​นวน​มาก
(มาระโก 10:45)

คริสเตียน มากมาย (รวมถึงตัวผมเอง) ชอบพระธรรมยอห์น เพราะทำให้เราเห็นภาพของพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระเจ้าอย่างชัดเจน แต่คงจะมีผู้เชื่อน้อยคนมากที่จะให้พระธรรมมาระโกเป็นเล่มโปรด สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่คงจะไม่ชอบที่จะเห็นพระเยซูในฐานะของคน รับใช้นัก แต่นั่นคือมุมหนึ่งของพระเยซูที่ปรากฏชัดในพระคัมภีร์ อีกทั้งได้มีการทำนายไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนหลายร้อยปีก่อนพระเยซูมาบังเกิด เสียอีก โดยเฉพาะในพระธรรมอิสยาห์ 42 และ 53 ที่ได้วาดภาพของพระเมสสิยาห์ (ผู้ที่พระเจ้าได้เจิมไว้ หรือพระคริสต์) ที่มาในฐานะผู้รับใช้ที่ต้อยต่ำและต้องเผชิญความทุกข์ยากมากมาย

ดูสิ ผู้​รับ​ใช้​ของ​เรา ผู้​ซึ่ง​เรา​เชิด​ชู ผู้​เลือก​สรร​ของ​เรา ผู้​ซึ่ง​ใจ​เรา​ปีติ​ยินดี เรา​เอา​วิญ​ญาณ​ของ​เรา​ใส่​ไว้​บน​ท่าน ท่าน​จะ​ส่ง​ความ​ยุติ​ธรรม​ออก​ไป​ยัง​บรรดา​ประ​ชา​ชาติ
(อิสยาห์ 42:1)

1 ใคร​เล่า​จะ​เชื่อ​สิ่ง​ที่​เรา​ป่าว​ประ​กาศ?
พระ​กร​ของ​พระ​ยาห์​เวห์ทรง​สำ​แดง​แก่​ผู้​ใด?
2 เพราะ​ท่าน​เจริญ​ขึ้น​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระ​องค์​อย่าง​ต้น​อ่อน
และ​เหมือน​ราก​ที่​แตก​หน่อ​มา​จาก​พื้น​ดิน​แห้ง​แล้ง
ท่าน​ไม่​มี​ความ​งาม​หรือ​ความ​สง่า​ที่​จะ​ให้​พวก​เรา​มอง​ดู
และ​ไม่​มี​รูป​ลักษณ์​ซึ่ง​จะ​ให้​เรา​พึง​ปรารถ​นา
3 ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น​และ​ถูก​ทอด​ทิ้ง
เป็น​คน​ที่​รับ​ความ​เจ็บ​ปวด และ​คุ้น​เคย​กับ​ความ​ทุกข์​ยาก3
และ​เป็น​ดั่ง​ผู้​ซึ่ง​คน​ทั้ง​หลาย​หัน​หน้า​หนี
ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น และ​เรา​ไม่​ได้​นับ​ถือ​ท่าน
4 แน่​ที​เดียว​ท่าน​แบก​ความ​เจ็บ​ไข้​ของ​พวก​เรา
และ​หอบ​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​เรา​ไป
กระ​นั้น​พวก​เรา​ยัง​คิด​ว่า​ที่​ท่าน​ถูก​ตี
คือ​ถูก​พระ​เจ้า​ทรง​โบย​ตี​และ​ข่ม​ใจ
(อิสยาห์ 53:1-4)

พระเยซูไม่ได้สอนมากมายนักถึงเคล็ดลับของการเป็นผู้รับใช้ พระองค์ไม่ได้บอกขั้นตอนว่าจะทำอะไรบ้าง แต่พระองค์แสดงให้เห็นชัดเจนด้วยชีวิตแห่งการรับใช้ที่แท้จริงของพระองค์เอง

ในชีวิตของพระเยซู เราเห็นถึง 3 แง่มุมของการเป็นผู้รับใช้ที่เราควรเรียนรู้และปฏิบัติตาม

1. จิตวิญญาณของผู้รับใช้

แน่นอน ทาสที่ดี ย่อมมีชีวิตที่เสียสละ และก็คงจะไม่มีใครที่เสียสละได้อย่างแท้จริงได้เหมือนพระเยซูอีกแล้ว พระองค์เป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่สูงสุด (ยอห์น 1:1) แต่เพื่อให้แผนการแห่งการคืนดีของพระเจ้าสำเร็จ นั่นคือให้มนุษย์ในฐานะคนบาป ได้กลับมามีความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้บริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง พระคริสต์ได้ "สละพระองค์เอง" และ "ถ่อมตัวลง" ยอมตายที่กางเขน ชดใช้บาปแทนมนุษย์ 

5 จง​มี​จิต​ใจ​เช่น​นี้​ใน​พวก​ท่าน​เหมือน​อย่าง​ที่​มี​ใน​พระ​เยซู​คริสต์
6 ผู้​ทรง​สภาพ​เป็น​พระ​เจ้า ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ทัด​เทียม​กับ​พระ​เจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ยึด​ไว้
7 แต่​ทรง​สละ​พระ​องค์​เอง​และ​ทรง​รับ​สภาพ​ทาส ทรง​ถือ​กำ​เนิด​เป็น​มนุษย์ และ​ทรง​ปรา​กฏ​อยู่​ใน​สภาพ​มนุษย์
8 พระ​องค์​ทรง​ถ่อม​ตัว​ลง ทรง​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มร​ณา กระ​ทั่ง​มร​ณา​บน​กาง​เขน
(ฟิลิปปี 2:5-8)

นี่แหละคือแบบอย่างของผู้ที่มีจิตวิญญาณของผู้รับใช้ที่แท้จริง

2. ความรักของผู้รับใช้

จากพระธรรมอพยพบทที่ 21 ทาสชาวฮีบรูที่ถูกซื้อไว้ จะมีสิทธิได้รับอิสรภาพในปีที่ 7 แต่ว่ามีทาสบางคนที่ไม่อยากได้รับอิสรภาพ ด้วยเหตุผลที่ปรากฏในข้อ 5

"ข้า​รัก​นาย​และ​ลูก​เมีย​ของ​ข้า ข้า​ไม่​อยาก​เป็น​อิสระ"
(อพยพ 21:5)

นี่แหละคือความรักของผู้รับใช้ เขาไม่อยากจากไปไหน ไม่อยากเป็นอิสระ เพราะว่าเขามีความรักที่ลึกซึ่งต่อเจ้านาย ต่อภรรยา และต่อลูก
พระคริสต์ก็เช่นกัน พระองค์เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของผู้รับใช้ พระองค์รักพระบิดา (ยอห์น 14:1) พระองค์รักคริสตจักรซึ่งเป็นพระกายและภรรยาของพระองค์ (เอเฟซัส 5) และพระองค์ก็รักลูกของพระองค์ทุกคน อันได้แค่ทุกคนที่ต้อนรับพระองค์และเชื่อวางใจในพระองค์ (ยอห์น 1:12; กาลาเทีย 2:20) พระองค์จึงไม่จากพระบิดา ภรรยา และลูกของพระองค์ไปไหน แต่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าที่สัตย์ซื่อและเปี่ยมด้วยความรักแท้อย่างไม่มีผู้ใดเปรียบได้ตลอดไป

3. ความเชื่อฟังของผู้รับใช้

ให้​นาย​พา​ทาส​นั้น​ไป​เข้า​เฝ้า​พระ​เจ้าพา​เขา​ไป​ที่​ประตู​หรือ​วง​กบ​ประตู แล้ว​ให้​นาย​เจาะ​หู​เขา​ด้วย​เหล็ก​หมาด เขา​ก็​จะ​อยู่​ปรน​นิบัติ​นาย​ตลอด​ไป
(อพยพ 21:6)

เมื่อทาสผู้นั้นไม่อยากที่จะเป็นอิสระในปีที่ 7 แล้ว นายของเขาก็จะพาทาสคนนั้นไปที่ประตู แล้วเจาะหูด้วยเหล็กหมาด
การยืนที่ประตู เป็นภาพของการพร้อมปรนนิบัติเจ้านายเสมอ และการเจาะหู เป็นภาพของการรับฟังและเชื่อฟังเจ้านาย
ในชีวิตของพระเยซู เราเห็นได้ว่าพระองค์เชื่อฟังพระบิดาเสมอ พระองค์ไม่ทำอะไรเลยนอกจากจะได้รับคำสั่งจากพระบิดา และเมื่อได้รับคำสั่ง พระองค์ก็ทำได้สำเร็จอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ พระองค์เชื่อฟังพระบิดาด้วยสุดจิตสุดใจจริงๆ
พระเยซูกล่าวว่า

แต่​เรา​ทำ​ตาม​ที่​พระ​บิดา​ทรง​บัญ​ชา​เรา เพื่อ​โลก​จะ​ได้​รู้​ว่า​เรา​รัก​พระ​บิดา ลุก​ขึ้น ให้​เรา​ไป​กัน​เถิด
(ยอห์น 14:31)


เพราะ​เรา​ไม่​ได้​กล่าว​ตาม​ใจ​เรา​เอง แต่​พระ​บิดา​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา​เป็น​ผู้​บัญ​ชา​เรา​ว่า​จะ​กล่าว​อะไร​หรือ​พูด​อะไร
(ยอห์น 12:49)

และเปาโลได้บรรยายถึงการเชื่อฟังของพระเยซูว่า


พระ​องค์​ทรง​ถ่อม​ตัว​ลง ทรง​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มร​ณา กระ​ทั่ง​มร​ณา​บน​กาง​เขน
(ฟิลิปปี 2:8)

นี่แหละ แบบอย่างของผู้รับใช้ที่เชื่อฟังเจ้านาย แม้จะต้องตายก็ยังยอม

ผู้เชื่อ คือ ผู้รับใช้ของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์

แน่นอน เมื่อพระเยซูได้ซื้อเราแล้วด้วยราคาสูง นั่นคือด้วยหมดทั้งชีวิตของพระองค์เอง (1 โครินธ์ 6:19) เราจากที่เคยเป็นทาสของซาตาน ก็ได้กลายเป็นทาสหรือผู้รับใช้ของพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์แล้ว (โรม 1:1; ฟิลิปปี 1:1; ทิตัส 1:1; ยากอบ 1;1) นี่ช่างเป็นข่าวดีจริงๆ เพราะซาตานเป็นเจ้านายที่ร้ายกาจมาก แต่พระคริสต์เป็นเจ้านายที่น่ารักและเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาอย่างยิ่ง
ผมได้เรียนรู้จากบทเรียนนี้ ถึงความจริงที่ยากที่จะเข้าใจและดูเหมือนจะขัดแย้งกันเอง นั่นคือ อิสรภาพที่แท้จริง พบได้เมื่อเราได้เป็นทาสของพระคริสต์เท่านั้น เพราะเมื่อเราเป็นทาสของพระองค์ เราก็มีอิสรภาพที่จะรับใช้พระองค์และลูกทั้งหลายของพระองค์ด้วยใจยินดีและด้วยความรัก ซึ่งเราไม่มีวันทำไม่ได้หากว่าเราไม่ได้เป็นทาสของพระองค์

13 พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย เพราะว่า​ท่าน​ถูก​เรียก​ให้​มี​เสรี​ภาพ ขอ​แต่​เพียง​อย่า​ถือ​โอ​กาส​ใช้​เสรี​ภาพ​เพื่อ​ทำ​ตาม​เนื้อ​หนัง แต่​จง​รับ​ใช้​กัน​และ​กัน​ด้วย​ความ​รัก​เถิด
14 เพราะ​ว่า​ธรรม​บัญ​ญัติ​ทั้ง​สิ้น​นั้น​สรุป​ได้​เป็น​คำ​เดียว คือ​ว่า จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง
(กาลาเทีย 5:13-14)

อีกความจริงหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกันเอง แต่เห็นชัดในพระคำของพระเจ้า คือ คนที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง เป็นคนที่มีใจแห่งการรับใช้

24 มี​การ​โต้​เถียง​กัน​ใน​พวก​สา​วก​ว่า​ใคร​ใน​พวก​เขา​ที่​นับ​ว่า​เป็น​ใหญ่
25 พระ​องค์​จึง​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า "กษัตริย์​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​ย่อม​เป็น​เจ้า​นาย​เหนือ​เขา​ทั้ง​หลาย และ​ผู้​ที่​มี​อำ​นาจ​เหนือ​เขา​นั้น​เรียก​ตัว​เอง​ว่า​เจ้า​บุญ​นาย​คุณ
26 แต่​พวก​ท่าน​จะ​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น ใน​พวก​ท่าน​คน​ที่​เป็น​ใหญ่​ต้อง​เป็น​เหมือน​เด็ก และ​คน​ที่​เป็น​นาย​ต้อง​เป็น​เหมือน​ผู้​ปรน​นิ​บัติ​
27 ใคร​เป็น​ใหญ่​กว่า​กัน ผู้​ที่​นั่ง​รับ​ประ​ทาน​หรือ​ผู้​ปรน​นิ​บัติ? ผู้​ที่​นั่ง​รับ​ประ​ทาน​ไม่​ใช่​หรือ? แต่​ว่า​เรา​อยู่​ท่าม​กลาง​พวก​ท่าน​เหมือน​กับ​ผู้​ปรน​นิ​บัติ
(ลูกา 22:24-27)

พระเยซูได้แสดงแบบอย่างที่น่าประทับใจ พระองค์ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่พระองค์ก็เป็นแบบอย่างของคนที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ด้วยการอยู่ท่ามกลางมนุษย์ผู้ต่ำต้อยในฐานะผู้รับใช้
ยิ่งเรายิ่งใหญ่มากเท่าไร เราก็จะยิ่งรับใช้คนอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น และในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เรายิ่งใหญ่มาก เพราะเราเป็นถึงลูกของพระเจ้า ดังนั้นเราจึงควรที่จะดำรงชีวิตให้สมเกียรติกับการเป็นลูกของพระเจ้า ด้วยการปรนนิบัติรับใช้พระองค์ ผ่านทางการรับใช้ในคริสตจักร และการรับใช้ลูกของพระเจ้าคนอื่นๆ
แน่ นอน การที่จะมีใจเป็นผู้รับใช้นั้นไม่ง่ายเลยและคงจะเป็นบทเรียนที่เราต้องเรียน รู้ตลอดชีวิต เพราะเรามีอัตตาอยู่ แต่ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่อยู่ในเรา เราจะสามารถปรนนิบัติรับใช้ผู้อื่นได้อย่างที่พระองค์รับใช้เหล่าสาวกและ ประชาชน 

จากแบบอย่างของพระเยซูในฐานะผู้รับใช้พระเจ้า ขอให้เราเลียนแบบพระองค์ให้สมกับเป็นบุตรที่รักของพระองค์ (เอเฟซัส 5:1) ด้วยการให้พระองค์เปลี่ยนแปลงชีวิตและจิตใจของเราทุกวัน (โรม 12:1-2) เพื่อที่เราจะมีจิตวิญญาณของผู้รับใช้ มีความรักของผู้รับใช้ต่อพระเจ้า ต่อคริสตจักร และต่อลูกของพระเจ้าทุกคน และมีความเชื่อฟังของผู้รับใช้

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรยสถ์ นิมมานนท์

โครงร่างเนื้อหา ประยุกต์จากหนังสือของ Living Stream Ministry
  • The holy word for morning revival: crystallization-study of Exodus, week 17: Christ as the Slave of God and the believers as slaves of God and Christ Jesus in the church life.
  • Life study of Exodus, message 68. 
  • Collected Works of Watchman Nee, The (Set 1) Vol. 17, Emanna for 10/07/2009.
·

หมายเหตุ: ข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิง มาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน ปี 2011 (THSV11) ของสมาคมพระคริสตธรรมไทย หากไม่ได้ระบุว่ามาจากฉบับอื่น
  


No comments:

Post a Comment